มะเร็งตับอ่อน ตรวจพบให้ไวก่อนโรคร้ายลุกลาม!

23 พ.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

มะเร็งตับอ่อน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ตับอ่อน แม้ว่าจะเป็นมะเร็งทางเดินอาหารที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบในระยะท้ายของโรค เนื่องจากมะเร็งตับอ่อนในระยะแรก ๆ ค่อนข้างวินิจฉัยได้ยาก เพราะผู้ป่วยอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ จนกระทั่งมะเร็งมีขนาดใหญ่และลุกลามแล้ว



ใครบ้างเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อน ?

พบว่ามะเร็งตับอ่อนอาจสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง
  • พบบ่อยในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี
  • โรคเบาหวาน
  • การสูบบุหรี่
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ
  • โรคอ้วน
  • การรับประทานอาหารไขมันสูง

 

อาการของมะเร็งตับอ่อนเป็นอย่างไร ?

  • ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ร้าวไปหลัง
  • ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • คลำพบก้อนที่ท้อง
  • ตับโต ถุงน้ำดีโต
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง คันตามตัว
  • ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด
  • น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป

 

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนทำอย่างไร ?

นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ยังมีวิธีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน ดังนี้

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง และดูการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่น
  • การส่องกล้องอัลตราซาวด์ (Endoscopic ultrasound) เพื่อดูโครงสร้างภายในตับอ่อนและการอุดตันทางเดินน้ำดี
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
  • การตรวจเลือดและการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา

 

มะเร็งตับอ่อนรักษาอย่างไร ?

การรักษามะเร็งตับอ่อนที่สำคัญคือการผ่าตัด วิธีที่ใช้บ่อย คือ การผ่าตัด Whipple’s operation เพื่อเอาส่วนหัวของตับอ่อน ลำไส้เล็กส่วนต้น กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองโดยรอบออก และการผ่าตัดบายพาสเพื่อแก้ไขภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำดีและทางเดินอาหาร หากเป็นมะเร็งระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาอื่นร่วม ได้แก่ การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด และการใช้ยามุ่งเป้า

SHARE