“มะเร็งกระเพาะอาหาร” ตรวจก่อนรู้ก่อน ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้อง

18 ต.ค. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุสูงกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่เป็นชนิดมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ซึ่งอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารมีค่อนข้างน้อย เพราะมักตรวจเจอก้อนเนื้อล่าช้า โดยโรคนี้จะไม่แสดงอาการรุนแรงใดๆ เลยจนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลามไปทั่วอวัยวะใกล้เคียงอื่นๆ ซึ่งแพทย์ทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจวินิจฉัยหากพบความผิดปกติได้แล้ว ขั้นตอนการตรวจยังไม่ยุ่งยาก ปลอดภัย ยังไม่ต้องแอดมิด ตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านในวันนั้นได้เลย

อาการบ่งชี้ของมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใดๆ เมื่อก้อนเนื้อร้ายมีขนาดโตขึ้นจนไปกระทบการทำงานของกระเพาะอาหาร จะมีอาการคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

  1. ปวดท้องรุนแรง แน่นท้อง
  2. คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายเป็นสีดำ (เพราะเลือดที่ไหลในกระเพาะอาหาร)
  3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  4. ตรวจพบก่อนเนื้อเป็นไต แต่กดไม่เจ็บปวด ตรงบริเวณเหนือสะดือ
  5. ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้

  1. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
  2. เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
  3. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ที่ชอบบริโภคอาหารหมัก ดอง รมควัน หรือปิ้งย่างเป็นประจำในปริมาณมากๆ จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
  4. พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อนก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
  5. เคยติดเชื้อแบคทีเรีย Pylori ที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
  6. พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

วิธีวินิจฉัยที่ทำได้ง่ายและได้ผลแน่ชัดที่สุด คือ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งจะสอดกล้องผ่านเข้าไปทางปากและหลอดอาหาร เพื่อดูลักษณะและขนาดของแผลในกระเพาะอาหาร หากตรวจพบความผิดปกติแพทย์สามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาได้เลย เพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ (Lab)

หากผู้ป่วยรู้สึกผะอืดผะอม ไม่สามารถตรวจด้วยการส่องกล้องได้ สามารถใช้วิธีกลืนแป้งที่อาบรังสีแบเรี่ยม แล้วพาผู้ป่วยไปถ่ายภาพเอ็กซเรย์ เพื่อหาเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร

หากตรวจพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะทำการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซีทีสแกน หรือเพ็ตสแกนต่อไป เพื่อหาการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง

เทคโนโลยีการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ปลอดภัย ยังไม่ต้องแอดมิด

เทคโนโลยีการส่องกล้อง เพื่อตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหาร เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น โดยการใช้กล้องส่องที่มีลักษณะยาว เล็กและโค้งงอ มีกล้องวิดีโอขนาดเล็กและหลอดไฟอยู่ส่วนปลาย ซึ่งจะมีการบันทึกวิดีโอและปรากฏบนหน้าจอ ทำให้รู้ได้ว่าหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น มีการอักเสบ เป็นแผล มีเนื้องอกหรือไม่ หรือมีการตีบตันของอวัยวะเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งหากตรวจและวินิจฉัยแล้วพบความผิดปกติ แพทย์สามารถตัดตัวอย่างเนื้อที่เห็น ออกมาตรวจได้ทันที ซึ่งข้อดีของการส่องกล้องกระเพาะอาหาร คือ ปลอดภัย ไม่ต้องแอดมิด ตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านในวันนั้นได้เลย

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยการตรวจโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งแพทย์จะมีวิธีทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการส่องกล้อง ตั้งแต่การพ่นยาชาที่คอ เพื่อให้ในบริเวณคอไม่มีความรู้สึกก่อน จึงเริ่มส่องกล้องได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนแม้ในคออาจชาแล้ว แต่อาจยังรู้สึกหวาดเสียวบ้าง ทีมวิสัญญีแพทย์ก็จะให้ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์สั้น เพื่อให้ผู้ป่วยหลับในระยะสั้นๆ ระหว่างการตรวจ

 

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

  1. หลังจากผู้ป่วยชาบริเวณคอเต็มที่ หรือหลับสนิทแล้ว แพทย์จะนำกล้องซึ่งเป็นสายยางขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ใส่ผ่านปากและคอลงไป ปลายกล้องจะมีหลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างระหว่างการตรวจ
  2. แพทย์จะเริ่มตรวจดูตั้งแต่ในคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น หากเจอโรคหรือความผิดปกติ แพทย์จะสามารถนำตัวอย่างเนื้อที่เห็น ออกมาตรวจได้ทันที
  3. กรณีพบติ่งเนื้องอกขนาดเล็ก แพทย์ยังมีเครื่องมือในการตัดติ่งเนื้อออกเพื่อการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน โดยจะใช้เวลาเพิ่มเติมไม่เกิน 5 นาที ซึ่งการตัดติ่งเนื้อนี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพิ่มเติมแต่อย่างใด

การปฏิบัติตัวหลังส่องกล้องกระเพาะอาหาร

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ ควรรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ประมาณ 15-30 นาที จึงค่อยเริ่มจิบน้ำ หากไม่รู้สึกชาในคอหรือกลืนลำบากแล้ว จึงสามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนๆ ได้

ในกรณีที่ใช้ยานอนหลับ ยาอาจมีฤทธิ์จนถึงช่วง 5-15 นาที หลังแพทย์ส่องกล้องเสร็จ ผู้ป่วยควรนอนพักจนร่างกายตื่นเต็มที่ หลังจากนั้นจึงกลับบ้านได้

 

แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร ตับ และ ทางเดินน้ำดี

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/2YCrJLE
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/316MPEx
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/3dzxA9T
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/2zGcPeU
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ https://bit.ly/3fQSCST
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/38xakKh
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3oBtV1F

SHARE