ปวดศีรษะไมเกรน อันตรายแค่ไหน?

17 ส.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

อาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่มีความจำเพาะ โดยทั่วไปแล้ว จะมีลักษณะแบบปวดตุ๊บๆ และมักเป็นที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง



ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน จริงๆแล้ว อาการปวดศีรษะจากไมเกรนมีอาการอะไรกันแน่ และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน…

 

ปวดศีรษะไมเกรน อันตรายแค่ไหน?

หลายๆคนคงคุ้นเคยกับคำว่า ปวดศีรษะไมเกรน กันเป็นอย่างดี คนไข้ของหมอส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะคิดวินิจฉัยเอาเองว่า ตนเองนั้นปวดศีรษะจากไมเกรน ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า โรคปวดศีรษะจากไมเกรนนั้นเป็นโรคที่พบบ่อย แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการปวดจากศีรษะไมเกรน จริงๆแล้ว อาการปวดศีรษะจากไมเกรนมีอาการอะไรกันแน่ และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่งผลเสียอย่างไรบ้างต่อสุขภาพของเรา วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นค่ะ

 

ปวดศีรษะไมเกรนเป็นอย่างไร?

อาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่มีความจำเพาะ โดยทั่วไปแล้ว จะมีลักษณะแบบปวดตุ๊บๆ และมักเป็นที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ก็จะมักมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการที่ไวต่อแสงจ้าๆหรือเสียงดังๆ ซึ่งลักษณะแบบนี้มักมีความแตกต่างจากอาการปวดศีรษะทั่วไป

อาการปวดศีรษะไมเกรน ค่อนข้างมีความรุนแรงในการปวดมากพอสมควร มากพอที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิติประจำวัน หรือทำงานต่อไปได้ จนอาจจะต้องนอนพักผ่อนเพื่อให้อาการดีขึ้นสักระยะ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าใจอาการและลักษณะของโรคปวดศีรษะไมเกรน เพื่อที่จะได้เรียนรู้และปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องค่ะ

 

อาการที่พบบ่อยของไมเกรน

อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยของไมเกรน เช่น

  • อาการปวดศีรษะแบบปานกลางหรือรุนแรง โดยเฉพาะปวดที่ข้างใดข้างหนึ่ง
  • ความรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวด
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการปวดศีรษะที่ไวต่อแสงและเสียง หรือกลิ่นบางชนิด

 

ระยะต่างๆของอาการปวดศีรษะไมเกรน

โดยทั่วไป เวลาที่อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ จะมีทั้งหมดประมาณ 4 ระยะ (แม้ว่าในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีไม่ครบทั้ง 4 ระยะนี้ก็ได้) การทำความเข้าใจระยะต่างๆของไมเกรน และเริ่มการรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆของการกำเริบ อาจช่วยทำให้ความรุนแรงของการกำเริบไมเกรนทุเลาลงได้

 

ระยะที่ 1 อาการนำ

อาการเริ่มต้นก่อนที่จะมีการกำเริบของไมเกรน ซึ่งในบางคนอาการเตือนเหล่านี้อาจนำมาก่อนที่จะมีอาการล่วงหน้าได้หลายชั่วโมงหรือหลายวัน อาการเตือนต่างๆ เช่น

 

  • หงุดหงิด
  • ซึมเศร้า
  • ง่วงนอนมากเป็นพิเศษ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • อยากอาหาร
  • ไวต่อแสง/เสียง
  • ไม่มีสมาธิ
  • เมื่อยล้า กล้ามเนื้อตึงตัว
  • คลื่นไส้ พะอืดพะอม
  • นอนหลับยาก

ระยะที่ 2 อาการออร่า

ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนทุกรายที่จะมีอาการออร่า อาจจะพบได้เพียง 20% ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น โดยอาการออร่า อาจนำมาก่อนช่วงไมเกรนกำเริบได้ประมาณ 5-60 นาที อาการออร่า เช่น

 

  • ตาพร่ามัว
  • สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว
  • อาการชาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ระยะที่ 3 อาการปวดศีรษะ

  อาการปวดศีรษะเป็นช่วงที่อาการกำเริบหนักของการปวดศีรษะไมเกรน ระยะเวลาขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาจเริ่มต้นตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง

 

  • ลักษณะปวดศีรษะหลากหลาย ซึ่งอาจเป็นแบบ ตุ๊บๆ ตื้อๆ รู้สึกเหมือนมีอะไรทิ่มแทงในศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ใจสั่น
  • นอนไม่หลับ
  • วิตกกังวล อารมณ์หดหู่
  • ไวต่อแสง เสียงและกลิ่น

ระยะที่ 4 อาการตามหลัง

  เป็นระยะสุดท้าย ของการปวดศีรษะกำเริบของไมเกรน ในบางคนเรียกว่า อาการ Migraine Hangover คล้ายๆกับอาการเมาค้างนั่นเอง เช่น

 

  • ไม่มีสมาธิ
  • เหนื่อยล้า
  • ชาตามส่วนต่างๆของร่างกาย
  • หดหู่ หรือ ร่าเริงผิดปกติ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการต่างๆของไมเกรน อาจจะดูไม่จำเพาะเจาะจง และแตกต่างไปในแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการต่างๆของไมเกรน มักไม่ค่อยอันตราย แต่ในบางกรณี ที่เป็นไมเกรนบางชนิด ซึ่งไม่ได้พบบ่อย เช่น Hemiplegic migraine หรือ ไมเกรนอัมพาตครึ่งซีก อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ภาวะโคม่า ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องไปพบแพทย์หากพบอาการศีรษะที่รุนแรงขึ้นหรือแตกต่างจากปกติ เช่น สับสนหรือซึมลง มีแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย หรือพูดลำบาก

 

การรักษาด้วยยาสำหรับไมเกรน

นอกจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้ว ยังมียาและการรักษาที่หลากหลายสำหรับการรักษาไมเกรนกำเริบ แต่ควรจะต้องเป็นยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เช่น

 

  • ยากลุ่มทริปแทน sumatriptan ซึ่งเป็นยาที่มักใช้รักษาไมเกรนโดยการปิดกั้นการปล่อยสารเคมีบางชนิดในสมองที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบ จึงทำให้สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและอาการของไมเกรนได้
  • ยาแก้อาเจียน เช่น metoclopramide มักใช้ในการรักษาไมเกรนที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย
  • ยากลุ่มใหม่ๆ เช่น ubrogepant, rimegepant และ atogepant ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การรักษามุ่งเป้าไมเกรนแบบเฉียบพลันโดยเฉพาะ
  • สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่ายากลุ่ม opioid ไม่ควรใช้เป็นการรักษาขั้นแรกสำหรับไมเกรน เนื่องจากอาจทำให้เสพติดได้และมีความเสี่ยงในการเกิดไมเกรนเรื้อรัง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการต่างๆของไมเกรน อาจจะดูไม่จำเพาะเจาะจง และแตกต่างไปในแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการต่างๆของไมเกรน มักไม่ค่อยอันตราย แต่ในบางกรณี ที่เป็นไมเกรนบางชนิด ซึ่งไม่ได้พบบ่อย เช่น Hemiplegic migraine หรือ ไมเกรนอัมพาตครึ่งซีก อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ภาวะโคม่า ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องไปพบแพทย์หากพบอาการศีรษะที่รุนแรงขึ้นหรือแตกต่างจากปกติ เช่น สับสนหรือซึมลง มีแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย หรือพูดลำบาก

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการศูนย์โรคระบบประสาทและสมองที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

พญ.อาภากร ซึงถาวร

SHARE