นอนกรน “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

24 พ.ย. 2566 | เขียนโดย ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การกรน เป็นลักษณะเสียงที่เกิดขึ้น เมื่ออากาศไหลผ่านเนื้อเยื่อที่หย่อน หรือคลายตัวในลำคอ ทำให้เนื้อเยื่อสั่นสะเทือนขณะหายใจ ในคนเกือบทุกคนจะพบมีอาการนอนกรนบ้างเป็นบางครั้งบางคราว แต่สำหรับบางคนจะมีอาการที่พบเป็นปัญหาเรื้อรังได้ บางครั้งอาจบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงด้วย นอกจากนี้ การนอนกรนยังเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับคู่ของคุณด้วย



ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  (Obstructive sleep apnea – OSA)

 

เป็นโรคการหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่พบได้บ่อย และมีลักษณะเฉพาะคือ การอุดตันทางเดินหายใจส่วนบนทั้งหมดหรือบางส่วน เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งซ้ำ ๆ ส่งผลให้มีการหายใจลดลง หรือขาดหายไประหว่างการนอนหลับ อาการเหล่านี้เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” อาจส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดลดลง การนอนหลับพักผ่อนได้ไม่ดี อาจรบกวนคุณภาพการนอนหลับ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

 

 

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  • นอนกรนเสียงดังมากเป็นประจํา
  • กรนสลับกับการหยุดหายใจเป็นระยะ
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก คล้ายหายใจไม่ออก หรือมีอาการเหมือนสำลักเป็นระยะขณะหลับ
  • นอนกระสับกระส่าย หลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ
  • ตื่นมาแล้วรู้สึกนอนหลับไม่พอ ไม่สดชื่น
  • คอแห้ง ปากแห้ง เจ็บคอ ตอนเช้า
  • ปวดศีรษะเป็นประจำหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • ง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวัน หลับในตอนทำงานหรือเรียนหนังสือ
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  • หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย
  • ความจำไม่ดี หลงลืมง่าย

 

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  1. น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน – เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณไขมันที่สะสมบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน อาจขัดขวางการหายใจได้
  2. เส้นรอบวงคอ – โดยเฉพาะสังเกตได้จากผู้ที่มีคอหนา อาจมีทางเดินหายใจแคบลง
  3. ทางเดินหายใจตีบตัน – ในบางคนอาจมีทางเดินหายใจที่แคบจากโครงสร้าง เช่น คางเล็ก คางสั้น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์ปิดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่พบได้มากในเด็ก
  4. เพศชาย – ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าผู้หญิง 2 – 3 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงก็จะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มได้มากขึ้นเช่นกัน หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว
  5. อายุมากขึ้น – โดยพบว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้มากในผู้สูงอายุ
  6. ประวัติครอบครัว – การมีสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พบว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น
  7. การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การใช้ยาระงับประสาท หรือยากล่อมประสาท – ซึ่งองค์ประกอบของสารเคมีบางอย่างในสิ่งเหล่านี้ จะออกฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในลำคอ ซึ่งอาจทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแย่ลงได้
  8. สูบบุหรี่ – ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ถึงสามเท่า การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มปริมาณการอักเสบ และเกิดการสะสมของเหลวในทางเดินหายใจส่วนบนได้
  9. คัดจมูก – หากมีอาการหายใจไม่สะดวก โพรงจมูกบวม ไม่ว่าจะมาจากปัญหาทางกายวิภาคหรือโรคภูมิแพ้ จะส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมากขึ้น
  10. โรคประจำตัว – ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง และเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น รวมไปถึงกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ ความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน

 

สัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ลองทำการตรวจสอบตามรายการ เพื่อทบทวนตัวเราเองว่ามีความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือไม่

□ คุณนอนกรนเสียงดัง
□ คู่สมรสหรือคู่นอนของคุณบอกว่าคุณหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับ
□ คุณตื่นขึ้นมาอย่างกระทันหันด้วยอาการสำลักหรือหายใจไม่ออก
□ คุณมักจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการปากแห้งหรือเจ็บคอ
□ คุณมักมีอาการปวดหัวในตอนเช้า
□ คุณมักจะรู้สึกเหนื่อยหรือเหนื่อยล้าในระหว่างวัน
□ คุณมีปัญหาในการตื่นตัวขณะดูทีวีหรืออ่านหนังสือ
□ คุณมีปัญหาในการเอาใจใส่ในที่ทำงาน
□ คุณมีปัญหาในการจดจำสิ่งต่าง ๆ
□ คุณรู้สึกหงุดหงิดหรืออารมณ์แปรปรวน
□ คุณมีโรคประจำตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคปอด
□ คุณมีความต้องการทางเพศลดลง
□ คุณมีปัจจัยเสี่ยงทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ อาทิ การสูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน

 

หากท่านมีอาการต่าง ๆ ข้างต้น หรือ สงสัยว่าตนเองรวมถึงคนใกล้ชิดอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา โดยแพทย์จะทำการถามประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงอาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography หรือ Sleep Test) ซึ่งถือเป็นการตรวจมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้ ทั้งยังสามารถใช้ประเมินระดับความรุนแรงของโรค วางแผนการรักษา และใช้ติดตามการรักษาต่อไป

 

โปรแกรมตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

ตรวจค้นหาภัยร้ายที่แฝงอยู่จากการนอนหลับ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว โดยแพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านอายุรกรรมระบบประสาทและโรคจากการนอนหลับ

>> คลิกเพื่อจองโปรแกรม สาขาสินแพทย์ รามอินทรา

 

SHARE