ทำอย่างไร ไตจะดี และมีสุข  

13 พ.ค. 2563 | เขียนโดย นพ.นนทพันธ์ นาคแนวดี อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลสินแพทย์ศรีนครินทร์

           “ทำอย่างไร ไตจะดี และมีสุข

            ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก โรคถามหา

            หนึ่งคือรู้ และเข้าใจ ในกายา

            สองตามมา เรื่องอาหาร ต้องทานดี

 

 

            สามคือตรวจ สุขภาพ กราบให้ตรวจ

            อย่าชิ่งชวด ละเลยกิจ ผิดวิถี

            สี่เสริมสร้าง กำลังกาย หลายวิธี

            งดบุหรี่ ราศีส่อง ผ่องอำไพ

 

 

            ห้าสำรวจ ตรวจอาการ ที่พานพบ

            บวมซึมซบ เหนื่อยอาเจียน เวียนหวิวไหว

            รีบพบหมอ จะรออยู่ ดูอย่างไว

            ช่วยแก้ไข ให้ท่านหาย คลายกังวล

 

 

 

            หนึ่งถึงห้า มาเป็นหลัก อย่าชักช้า

            เพื่อชีวา มิป่วยไข้ ให้สับสน

            ไตเข้มแข็ง แกร่งนาน และทานทน

            เชิญฝึกฝน อ่านอักษร ตอนเรื่องไต”

 

ทำอย่างไร ไตจะไม่วาย

1.ทำความเข้าใจเรื่องไต

         มนุษย์มีไต 2 ข้าง รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดง ตั้งอยู่บริเวณบั้นเอว มีขนาดในแนวตั้งประมาณ 10-12 เซนติเมตร ไตมีหน้าที่หลักคือ ขับถ่ายของเสียในรูปปัสสาวะ ปรับสมดุลน้ำและเกลือแร่ให้ปกติ รวมถึงสร้างฮอร์โมนที่ใช้สร้างเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

         เมื่อไตทำงานผิดปกติอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เนื่องจากมีการคั่งของของเสีย อาจมีภาวะเกลือแร่ผิดปกติจนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติอันนำไปสู่การเสียชีวิตเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการบวมเนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้

         ภาวะไตวายแบ่งเป็น 2 ภาวะหลักคือไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง

         ไตวายเฉียบพลันเกิดจากการมีปัจจัยที่ทำร้ายไตอย่างปัจจุบันทันด่วนเช่น ภาวะสูญเสียน้ำหรือเลือดในร่างกายปริมาณมาก ภาวะช็อค ภาวะติดเชื้อที่ไต ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตบวมน้ำเนื่องจากมีนิ่วอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

        ไตวายเรื้อรังเกิดจากการมีปัจจัยที่มาทำลายไตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลานานในการทำร้ายไตแบบเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว เป็นต้น

2.สร้างนิสัยการทานที่ดี

        หากต้องการให้ไตทำงานปกติ เราต้องทำการควบคุมปัจจัยที่ทำร้ายไตไม่ให้เกิดขึ้น ปัจจัยหนึ่งคืออาหาร ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ปกติ จึงต้องควบคุมของหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงต้องควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ จึงต้องควบคุมของเค็ม ผู้ป่วยนิ่วต้องดื่มน้ำให้มากเพื่อป้องกันการเกิดผลึกนิ่วที่มากขึ้นรวมถึงรับประทานยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ปัจจัยที่ทำร้ายไตอื่นๆ ที่ควรระวัง เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดประเภท NSAIDS ยาสมุนไพรบางชนิด

        สรุปให้ง่ายกล่าวคือ ไม่กินหวานจัด ไม่กินเค็มจัด ดื่มน้ำให้มาก (วันละประมาณ 1.5-2 ลิตร) งดรับประทานยาที่ไม่มีคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร

3.ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ

        ในบุคคลทั่วไปทุกช่วงอายุควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเชคร่างกายเบื้องต้นตรวจการทำงานของอวัยวะทั่วไปโดยใช้การตรวจร่างกายของแพทย์และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การวัดระดับความดันโลหิต การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การตรวจดูค่าการทำงานของตับ ไต การตรวจปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์ปอด เป็นต้น

        สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำเพราะจะทำให้ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือมีความเจ็บป่วยใดเกิดขึ้นบ้างแล้ว เพื่อการป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงที

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและไม่เจอบุหรี่

         การออกกำลังกายเป็นวิธีช่วยบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรง กล่าวคือช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมไขมันในเลือด เพิ่มปริมาณไขมันดี ลดปริมาณไขมันเลว เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ทำให้สรีระสวยงาม ไม่อ้วน รวมถึงการงดสูบบุหรี่เพื่องดปัจจัยที่จะมาทำร้ายหัวใจและเส้นเลือด ผลดังกล่าวนี้ส่งผลดีต่อไตทั้งทางตรงและทางอ้อม

5.เมื่ออาการไม่ดีให้รีบมาพบแพทย์

        เมื่อไตเจ็บป่วยอาจทำให้มีอาการผิดปกติได้หลากหลาย เช่น ขาบวม ตัวบวม คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึม ชัก เหนื่อย เป็นต้น อย่าปล่อยปละละเลยให้มีอาการหนักหรือปล่อยอาการดังกล่าวไว้นานเพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสในการรักษา โดยเฉพาะผู้สูงอายุหากมีอาการที่ผิดปกติควรส่งพบแพทย์ทันที หากพบแพทย์ช้าอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้

        ย่อไว้ให้จำง่ายด้วยหลักการปฏิบัติตัว 5 ข้อ ดังนี้

1.ทำความเข้าใจเรื่องไต

2.สร้างนิสัยการทานที่ดี

3.ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและไม่เจอบุหรี่

5.เมื่ออาการไม่ดีให้รีบมาพบแพทย์

        หลักการปฏิบัติตัว 5 ข้อนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับบุคคลทั่วไป หากเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอาจมีวิธีการปฏิบัติตัวที่แตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย สมควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาโดยตรงครับ


›สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-006-8888 ต่อแผนกอายุรกรรม

›สามารถจองแพทย์ออนไลน์ได้ที่ :https://bit.ly/30RZZFk

›แอดไลน์ คลิก :  https://lin.ee/81Oa7oM

›Facebook : https://bit.ly/2CkqDN5

SHARE