คำแนะนำในการดูแลเด็กเล็กที่ซน ไม่นิ่ง

29 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย พญ.สุธีรา คุปวานิชพงษ์ (กุมารแพทย์ ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก : โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์)

เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ในเรื่องพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมา บางคนกระตือรือร้น ชอบสำรวจ ไม่ชอบอยู่นิ่ง บางคนชอบเล่นเงียบๆ นิ่งๆ การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในสไตล์ของลูก อดทนและพยายามปรับการเลี้ยงดูให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาความสามารถในการกำกับตนเอง เรียนรู้การควบคุมตนเองได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกที่มีสไตล์ที่ซน ไม่ค่อยอยู่นิ่งได้โดย..
.

1. เข้าใจลูก
ขอให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในลักษณะพื้นอารมณ์และสไตล์ของลูก พยายามไม่เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ยอมรับว่าเด็กซนมีพลังเหลือเฟือ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองให้นิ่งได้ แต่ใช้ความอดทน สงบมั่นคงของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกได้
2.จัดบ้านให้เป็นระเบียบ
พยายามจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน สถานที่เล่น ให้มีระเบียบและปลอดภัย ให้เด็กเรียนรู้ระเบียบรวมทั้งฝึกให้ช่วยงานบ้านง่ายๆ เช่น เก็บของเล่นของตัวเอง
3.มีตารางกิจวัตรประจำวัน
มีตารางเวลาทำกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เช่น กินข้าว, อาบน้ำ, ฟังนิทานแล้วเข้านอน พยายามเป็นเวลาเดิมให้สม่ำเสมอทุกวัน
4.มีกฎประจำบ้าน
มีกฎระเบียบของบ้านให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่เขาสามารถทำได้ และสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ห้ามขว้างปาของ, ห้ามตีกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งควบคุมกฎให้ชัดเจนและสม่ำเสมอ
5.ฝึกทำทีละอย่าง
ฝึกให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมทีละอย่าง เล่นเสร็จแล้วให้เก็บก่อนที่จะเล่นสิ่งใหม่ ไม่ทำหลายอย่างพร้อม ๆ กัน
6.กิจกรรมปลดปล่อยพลังงาน
หากิจกรรมที่ลูกชอบ ให้ได้ปลดปล่อยพลังงานส่วนเกิน เช่น วิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น, ปั่นจักรยาน หรือเตะบอล
7.กิจกรรมส่งเสริมสมาธิ
หากิจกรรมที่ลูกชอบและช่วยฝึกให้ลูกนิ่ง จดจ่อ มีสมาธิมากขึ้น เช่น วาดรูป ระบายสี ต่อจิ๊กซอว์ โดยที่คุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ด้วย หรือ กีฬาบางชนิดที่มีลำดับขั้นตอน มีกติกา เช่น เทควันโด โยคะเด็ก พบว่าช่วยฝึกสมาธิในเด็กได้
8.เวลาคุณภาพ
มีเวลาคุณภาพในการเล่นกับลูก อย่างน้อย 10-15 นาทีทุกวัน เพื่อจะได้สังเกตลักษณะสไตล์ของลูก ข้อดีของลูก ชื่นชมสิ่งดีๆในตัวลูก
9.ให้คำชม
เมื่อลูกทำสิ่งดีให้รีบชมทันที โดยชมเจาะจงที่พฤติกรรม เช่น แม่ชอบจังที่หนูเล่นแล้วเก็บของเล่น จะช่วยให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังคำสั่งมากขึ้น
10.การให้คำสั่ง
เมื่อต้องการให้ลูกทำอะไร ให้เรียกชื่อลูก สบตา บอกด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่สงบ ให้คำสั่งครั้งละ 1 อย่าง ถ้าลูกทำตามให้ชมลูกทันทีที่เขาปฏิบัติตามคำสั่ง ถ้าลูกไม่ทำตามใน 10 วินาที ให้บอกคำสั่งเดิมซ้ำอีกครั้งอย่างสงบพร้อมกับให้สัญญาณเตือน เช่น ถ้ายังไม่ทำให้จับมือทำ พาไปทำ หรือทำตามที่ให้สัญาณเตือนไว้
11.ฝึกวินัยโดยไม่ใช้การตี
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรเพิกเฉยและไม่ควรตามใจลูกเมื่อมีพฤติกรรมร้องดิ้น อาละวาด หลีกเลี่ยงการทำโทษด้วยการตี ซึ่งอาจจะทำให้ลูกก้าวร้าวมากขึ้นจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ ควรใช้การชมเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดี และคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมตนเอง
12.มีเวลาให้ตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกที่ซน ไม่นิ่ง ตลอดเวลา ย่อมมีความเหนื่อยล้าอย่างมาก ควรมีเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน ทำสิ่งที่ผ่อนคลายสบายใจ ออกไปนอกบ้านตามลำพังสองคนบ้าง โดยอาจจะหาคนผลัดดูลูกแทน เพื่อที่จะได้มีพลังและกำลังใจในการดูแลลูกได้ต่อไป

.
ปรึกษากุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE