โรคซนสมาธิสั้น ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

16 ก.ค. 2563 | เขียนโดย พญ. สุธีรา คุปวานิชพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็ก

โรคซนสมาธิสั้น ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

โรคซนสมาธิสั้น คือ ภาวะที่เด็กมีปัญหาเรื่องซน อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และขาดสมาธิ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เช่น มีผลเสียต่อการเรียน เกิดปัญหาพฤติกรรม และการอยู่ร่วมกับคนอื่น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างมากทั้งในเรื่องการประสบความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ ในอนาคต

อาการของโรคซนสมาธิสั้น แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก คือ

  1. อาการขาดสมาธิ ได้แก่ สมาธิสั้น ไม่สามารถคงสมาธิได้ต่อเนื่อง ทำงานหรือการบ้านไม่เสร็จ ทำงานไม่รอบคอบ มีความยากลำบากในการทำงานที่ต้องวางแผนทำเป็นลำดับขั้นตอน มีอาการเหม่อ ใจลอย วอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อย ทำของที่สำคัญหายบ่อย

  2. อาการซนและหุนหันพลันแล่น ได้แก่ วิ่งซน ปีนป่าย เล่นเสียงดัง ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ มักประสบอุบัติเหตุจากความซน ขาดความระมัดระวัง ลุกออกจากที่นั่งหรือเดินในห้องเรียนขณะที่ครูสอน ยุกยิก อยู่ไม่สุข พูดมากเกินไป พูดโพล่ง พูดแทรกบทสนทนา วู่วามใจร้อน ไม่สามารถรอคอยคิวได้

โดยโรคสมาธิสั้นจะต้องมีอาการด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านนี้ ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน

สาเหตุ

         เกิดจากปัจจัยร่วมกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมสมาธิ อารมณ์ การยับยั้งชั่งใจ และทักษะการจัดการ โดยพบว่าสมองส่วนหน้ามีการเจริญที่ล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ร่วมกับพบว่าการสร้างสารเคมีบางชนิดในสมองส่วนนี้มีความไม่สมดุล

การวินิจฉัย

                วินิจฉัยโดยกุมารแพทย์พัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก ตรวจประเมินเด็กในห้องตรวจอย่างละเอียด ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากพ่อแม่และคุณครู ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกมีปัญหาสมาธิสั้นควรพามาตรวจกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับแนวทางการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเมื่อเติบโตขึ้น

อุบัติการณ์

โรคซนสมาธิสั้นพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยปัจจุบันพบประมาณ 5-8 % ในเด็กวัยเรียน โดยเด็กชายพบมากกว่าเด็กหญิงประมาณ 5 เท่า

การรักษา การรักษาโรคซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ได้แก่

  1. การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคซนสมาธิสั้นที่ได้ผลดีที่สุดที่มีในประเทศไทย คือ กลุ่ม Methylphenidate ซึ่งมีทั้งแบบที่ออกฤทธิ์สั้น ที่ต้องกินวันละ 2-3 ครั้ง และแบบที่ออกฤทธิ์ยาวที่สามารถกินวันละ 1 ครั้งได้ โดยยาจะออกฤทธิ์ไปยับยั้งการทำลายสารเคมีในสมอง (ที่เด็กมีน้อยกว่าปกติ) ช่วยให้เด็กมีความจดจ่อในการทำงานมากขึ้น คงสมาธิได้ยาวขึ้น เรียนหนังสือได้ดีขึ้น ซนน้อยลง สามารถควบคุมตัวเองและควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

  2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้การช่วยเหลือที่บ้าน

  • ปรับทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่ต่อลูกที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นให้เป็นบวก ให้กำลังใจลูกในการพัฒนาตัวเอง

  • ใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมเชิงบวก ได้แก่ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูก ชมเชย ให้รางวัล โดยให้ทันทีที่ทำพฤติกรรมดี จะช่วยให้ลูกมองเห็นข้อดีของตัวเอง และมีกำลังใจที่จะประพฤติตัวดีขึ้น

  • มีเวลาคุณภาพใช้เวลาทำกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกันในครอบครัว เพื่อจะได้สังเกตข้อดีของลูก ชื่นชมสิ่งที่ดีๆในตัวลูก นำไปสู่ความรู้สึกมีคุณค่า ความภาคภูมิใจในตัวเองของลูก

  • จัดกฎระเบียบในบ้าน เช่น ห้ามดูทีวีขณะทำการบ้าน ห้ามขว้างปาของ เล่นของเล่นเสร็จแล้วต้องเก็บเข้าที่ คุณพ่อคุณแม่ทำเป็นแบบอย่าง และควบคุมกฎให้ชัดเจนและสม่ำเสมอ

  • ทำข้อตกลงให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าถ้าทำผิดจะมีโทษอย่างไร ควรใช้การลงโทษโดยวิธีการจำกัดสิทธิ เช่น งดดูการ์ตูน งดเที่ยวนอกบ้าน หักค่าขนม ริบโทรศัพท์ เป็นต้น ควรเลี่ยงวิธีทำโทษโดยการตี ดุด่า หรือใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นเด็กที่ก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

  • ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับเด็ก เช่น มีที่ให้เด็กทำการบ้านและอ่านหนังสืออย่างสงบ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องอยู่ช่วยควบคุมให้ทำงานเสร็จ มีตารางเวลากิจวัตรประจำวันที่แน่นอน ฝึกให้เด็กทำกิจกรรมทีละอย่าง ให้เด็กหยุดพักช่วงสั้นๆได้เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิแล้ว

  • ฝึกทักษะการบริหารจัดการโดยคุณพ่อคุณแม่ช่วยกำกับ เช่น จัดกระเป๋านักเรียน เตรียมอุปกรณ์ วางแผนทำและส่งงานให้ทันตามกำหนด ฝึกใช้ข้อความเตือนความจำ

  • ฝึกเทคนิคให้เด็กคิดก่อนทำ stop-think-do it เช่น ให้เด็กนับ 1-2-3 ก่อนลงมือทำ ฝึกให้เด็กรู้จักคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำ และฝึกทักษะการแก้ปัญหา

  • ส่งเสริมให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กีฬาบางชนิดที่มีลำดับขั้นตอน มีกติกา เช่น เทควันโด ฟุตบอล โยคะ พบว่าช่วยฝึกสมาธิ และสอนให้เด็กรู้จักแพ้-ชนะ รอคอยคิว ทำตามกติกาได้

  • ลดเวลาของเด็กในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูสื่อ ดูทีวี ให้เหลือน้อยที่สุด ให้จำกัดเวลาเล่น โดยต้องทำงานหรือการบ้านให้เสร็จก่อน การใช้สื่อเหล่านี้มากเกินไปจะยิ่งทำให้สมาธิและการควบคุมตัวเองแย่ลง

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้การช่วยเหลือที่โรงเรียน

  • เข้าใจในตัวเด็ก มองหาข้อดีของเด็ก สนับสนุนให้เด็กแสดงออกถึงจุดเด่นหรือข้อดีของตนเอง ช่วยให้เด็กมั่นใจในตัวเองและมีกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง

  • จัดที่นั่งหน้าชั้นหรือใกล้คุณครูมากที่สุด ให้ไกลจากประตูหน้าต่าง

  • สั่งงานเป็นขั้นตอนสั้นๆ ให้เด็กทบทวนคำสั่งหรือให้ซักถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ

  • ให้เด็กจดงานลงสมุดการบ้าน ช่วยตรวจสมุดงานอย่างสม่ำเสมอ

  • ใช้วิธีเตือนไม่ให้เด็กเสียหน้า ไม่ดุว่าหรือลงโทษรุนแรง ควรใช้วิธีการตัดคะแนน งดเวลาพัก หรือทำเวรแทน

  • ชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อทำพฤติกรรมที่ดี

  • ในเด็กที่จำเป็นต้องกินยาที่โรงเรียน คุณครูช่วยดูแลหรือเตือนให้เด็กกินยาอย่างสม่ำเสมอ

  • การช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ เช่น สอนเพิ่มตัวต่อตัวหากมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมด้วย หรืออาจพิจารณาให้เวลาสอบนานกว่าเพื่อน หรือคุณครูช่วยเตือนเมื่อวอกแวก

  1. การวินิจฉัยปัญหาอื่นๆที่พบร่วมกัน และให้การช่วยเหลือ เช่น ภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ ปัญหาการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อมือ ปัญหาพฤติกรรม เป็นต้น

การพยากรณ์โรค

                เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30-50% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม


พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE