ความจำไม่ดี? ขี้ลืมหรือป่าว

7 มี.ค. 2563 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

– อายุยังไม่เท่าไร ทำไมขี้ลืมแล้ว เราเป็นอัลไซเมอหรือเปล่า

o เราอาจเคยเข้าใจว่าความจำแย่ลงเทียบเท่ากับอัลไซเมอร์ แต่จริงๆแล้ว ปัญหาด้านความจำ โดยเฉพาะในคนที่ยังอายุไม่มาก อาจเกิดจากสาเหตุได้อีกหลายอย่าง บางครั้งเป็นโรคทางกาย โรคติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งโรคทางใจ ซึ่งเราอาจยังไม่มีอาการอื่น หรือไม่ได้สังเกตตนเองมาก่อน มีผู้ป่วยเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆจริง จากความฝ่อเหี่ยวของเนื้อสมองในส่วนต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความจำ และการทำงานโดยรวมของสมอง

 

– กลไกการจำของสมองคนเรา

o เปรียบเทียบง่ายๆ ให้คิดว่าสมองเราเป็นคอมพิวเตอร์ เวลาเราจะจำอะไร เหมือนเราได้ทำการป้อนข้อมูลเข้าไปบันทึกในเมมโมรี่ยูนิท คอมพิวเตอร์เครื่องนึงอาจจะมีเมมโมรี่ยูนิทเดียว แต่ในสมองเราเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์โครงข่ายองค์กรขนาดใหญ่ ที่ใช้ หลายๆส่วนทำงานร่วมกัน โดยมีหน่วยงานหลักก็คือ ส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ในการบันทึกข้อมูลต่างๆ

o เวลาจะนึกถึงเรื่องใด สมองเราก็จะทำการค้นข้อมูล ผ่านใยประสาทที่มีแขนงมากมาย เมื่อพบข้อมูลแล้ว สมองจึงทำการแสดงผลออกมาในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นภาพ เช่นเราจำหน้าคนได้ หรือเป็นชุดของตัวเลข ตัวอักษร ที่เราเปล่งเสียง หรือเขียนออกมาได้ โดยสรุปง่ายๆ มีสามส่วนคือ -input-processor-output

 

– ปัญหาความจำเกิดจากอะไรได้บ้าง

o ปัญหาความจำเกิดได้จากทั้งสามส่วน เราอาจเสียที่ input เช่น เรากำลังมีภาวะเครียด มีเรื่องรุมเร้า ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อ ส่วนของการรับข้อมูลก็จะเสียไป ในคนที่มีอายุมากหรือวัยชรา บางคนหูตึงแต่ไม่รู้ตัว คนรอบข้างก็ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นสมองเสื่อม แต่จริงๆ คนไข้หูตึง เสียที่ input

o โรคบางโรค เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ โรคติดเชื้อไวรัส โรคของปลอกหุ้มประสาท หรือคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเล็กๆ ตีบ พวกนี้ก็ไปรบกวน processor การส่งกระแสประสาท ทำให้ประสาทวิ่งช้า ก็มีอาการคล้ายความจำไม่ดีได้ ลักษณะนี้จะเหมือนคนนึกอะไรนาน เอ๊ะ อะไรนะ คุ้นๆ แต่พอใบ้ข้อมูล ก็จะ อ๋อ เพราะว่าเสียแค่ การส่งกระแสประสาท ที่ช้าลง แต่ความจำยังอยู่

o ในโรค อัลไซเมอร์ เปรียบได้กับการเสียการทำงานที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ เนื้อสมองที่ทำงานโดยตรงคือ ฮิปโปแคมปัส มันฝ่อเหี่ยว เหมือนคอมพิวเตอร์ที่พังตรง CPU เลย ก็แทบจะใช้งานได้ยากลำบากถ้าไม่เอาไปซ่อม

 

– เมื่อไรที่ต้องมาพบแพทย์

o ที่สำคัญและควรมาพบแพทย์อย่างยิ่งยวด คือ กรณีที่มีปัญหาเรื่องความจำร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น เดินล้มบ่อย ทรงตัวไม่ดี ปวดศีรษะเรื้อรัง พฤติกรรมเปลี่ยน การมองเห็นผิดปกติ การนอนผิดปกติรวมทั้งนอนกรน หรือมีอาการอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น

o แต่หากความจำไม่ดี แล้วยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด หากไม่แน่ใจก็สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้ การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือสแกนสมองก็จะช่วยเป็นข้อมูลเพื่อหาสาเหตุและแนวทางรักษาต่อได้

o บางคนอาจเป็นภาวะป่วยทางใจ เช่น ซึมเศร้า ก็ควรได้รับการรักษา เพราะนอกจากจะเป็นภาวะที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน ศักยภาพของคนเราแล้ว ยังพบว่า ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ในอนาคตได้มากขึ้น

 

– จะป้องกัน แก้ไข อย่างไร

o หากเป็นปัญหาความจำไม่ดีอย่างเดียว ลองสำรวจว่าเรามีอะไรที่อธิบายอาการได้หรือไม่ เช่น พักผ่อนน้อยนอนดึกประจำ นอนกรนจากทางเดินหายใจอุดกั้น เครียดจากภาระงาน วิตกกังวล ซึมเศร้าหรือมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ หรือมีโรคทางกาย ถ้ามีสาเหตุเราก็ป้องกันหรือแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ วิธีที่ช่วยได้คือ การฝึกสมาธิ การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การทำกิจกรรมพิเศษ จัดการความเครียด ริเริ่มทำสิ่งใหม่ เพื่อกระตุ้นการทำงานของใยประสาท

o หากไม่พบสาเหตุชัดเจน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังกล่าวข้างต้น ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

o สำหรับโรคอัลไซเมอ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความชรา ความเสื่อมถอยของเซลล์ร่างกาย ปัจจุบันเราจึงยังไม่มียาที่รักษาได้ แต่สามารถชะลอโรค และมุ่งเน้นการปรับแก้อาการอื่นๆที่พบร่วมกับตัวโรค เช่น ปัญหาการนอน ปัญหาด้านพฤติกรรม โดยใช้วิธีการใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยมีเป้าหมายคือให้ผู้ป่วยได้ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

SHARE