โรคกรดไหลย้อน ตรวจได้รู้ชัด จัดการรักษาให้ตรงจุด

20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์โรคปวดท้อง

โรคกรดไหลย้อน  หรือ  Gastro Esophageal Reflux Disease (GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อย  หรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร

 

อาการของโรคกรดไหลย้อน

ส่วนใหญ่จะมีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่หรือยอดอก  หรือร่วมกับมีภาวะเรอเปรี้ยว ซึ่งเป็นกรดหรือน้ำย่อยที่มีรสเปรี้ยวปนขมย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก  โดยจะเป็นมากขึ้นหลังจากการกินอาหารโดยเฉพาะเมื่อกินปริมาณมากๆ  หรือเมื่อมีการก้มโน้มตัวไปข้างหน้า  เมื่อออกแรงยกของหนัก  หรือเวลานอนหงาย  ภาวะนี้หากเป็นบ่อยๆ จะทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นมากจนเป็นแผลรุนแรง  อาจทำให้ปลายหลอดอาหารตีบ  หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร  จนถึงขั้นเป็นมะเร็งได้

บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคด้านหู  คอ  จมูก  เช่น  ไอเรื้อรัง  เสียงแหบ  หรือหอบหืด  เจ็บหน้าอกที่ไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ  เป็นต้น

สำหรับเด็กทารกถึงเด็กโต  ก็เป็นโรคนี้ได้  ซึ่งมีอาการดังนี้  อาเจียนบ่อยหลังดูดนม  มีภาวะโลหิตจาง  น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น  เจริญเติบโตช้า  ไอเรื้อรัง  หอบหืด  อาจมีปอดอักเสบเรื้อรัง

 

ถ้ามีอาการดังกล่าวควรทำอย่างไร

หากเป็นโรคนี้จริง  จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยกินยาลดการหลั่งกรด  เป็นระยะเวลา  6 – สัปดาห์  แล้วติดตามอาการโดยพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง  อาจต้องกินยาต่อเนื่องไปอีก  ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค  ในรายที่เป็นเรื้อรังกินแล้วไม่ดีขึ้น  อาจต้องตรวจเพิ่มเติม  โดยการส่องกล้องทางเดินอาหาร  ตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร  และตรวจวัดความเป็นกรด – ด่าง  ในหลอดอาหาร  (24 – hr pH monitoring)  ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจโรคกรดไหลย้อนที่ให้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน

 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน

เป้าหมายที่สำคัญสำหรับการรักษาโรคนี้  คือ  ให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น  รักษาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารรวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อน  ซึ่งนอกจากการใช้ยาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญของการหายของโรค  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • งดสูบบุหรี่ / ดื่มสุรา
  • งดดื่มน้ำชา กาแฟ  น้ำอัดลม  น้ำผลไม้  หรืออาหารรสเปรี้ยวจัด  เผ็ดจัด  อาหารไขมันสูง  ช็อกโกแลต
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
  • ควบคุมอาหารมื้อเย็น ไม่กินในปริมาณมาก
  • ไม่นอนทันทีหลังรับประทานเสร็จ ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย  3  ชั่วโมง
  • รับประทานน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือแน่นๆ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • แนะนำให้นอนตะแคงซ้าย หรือนอนศีรษะสูงอย่างน้อย  6  นิ้ว

 

โรคกรดไหลย้อน  เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน  แม้จะไม่อันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต  แต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่มากก็น้อย  หากคุณเป็นหนึ่งที่มีอาการดังกล่าว  หรือสงสัยว่าใช่โรคนี้หรือไม่  ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษา  อย่าซื้อยารับประทานเอง  เพราะอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ  และอาจเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด  ทำให้รักษาไม่หายและมีแนวโน้มเป็นรุนแรงและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้

SHARE