ปัจจุบันคู่สมรสหลายๆ คู่ กำลังประสบกับปัญหา มีลูกยาก กันมากขึ้นเนื่องจากสภาพทางสังคม และความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป กว่าจะเริ่มต้นชีวิตคู่ อายุก็ล่วงเลยไป 30 กว่าๆ แล้ว และนี่เองนับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากคุณภาพความสมบูรณ์ของไข่ จากฝ่ายหญิง จะด้อยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าเกิดร่วมกับสาเหตุปัญหาอื่นๆ เช่น คุณภาพของเชื้ออสุจิไม่ดี มีเนื้องอกมดลูก มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน ก็จะยิ่งทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
โดยทั่วไปเกณฑ์การพิจารณามาพบแพทย์ เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก คือ ได้พยายามจะมีบุตรภายใน 1 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
Q : เมื่อมาพบแพทย์ต้องทำอย่างไร และต้องตรวจอะไรบ้าง
A: ควรมาพบแพทย์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อตรวจหาสาเหตุ สำหรับผู้หญิง เริ่มจากการตรวจภายใน ตรวจอัลตราซาวด์ และตรวจเลือดดูการทำงานของฮอร์โมนจากรังไข่ หากพบความผิดปกติ เช่น มีถุงน้ำรังไข่ มีเนื้องอกมดลูก หรือ พังผืดในอุ้งเชิงกราน ก็ควรทำการรักษาก่อน หรือ ตรวจเพิ่มเติม คือทำการฉีดสีแล้วเอ็กซเรย์ดูท่อนำไข่ ว่ามีการอุดตันหรือไม่ (ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ เพราะเป็นทางผ่านของเชื้ออสุจิและไข่) หรือตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องเพื่อดูความรุนแรงและรักษาในกรณีที่เป็นพังผืด หรือ ถุงน้ำรังไข่ สำหรับฝ่ายชาย การตรวจไม่ค่อยยุ่งยาก แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อดูความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิสว่นในรายที่เคยทำหมันมาแล้ว ก็สามารถตรวจและแก้ไขได้
Q: มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง ที่ช่วยแก้ไขภาวะมีบุตรยาก
A: การรักษามีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. ใช้ยาฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการทำงานของรังไข่
2. การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช กรณีที่เป็นพังผืด เนื้องอก หรือ ถุงน้ำรังไข่ เพราะส่วนใหญ่ เมื่อได้รักษาโรคต่างๆ เหล่านี้แล้ว อาจจะมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีชั้นสูง
3. การผสมเทียม (IUI : การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก) วิธีนี้ไม่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายไม่สูง โอกาสในการตั้งครรภ์ก็ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาไม่มาก
4. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF หรือ อิ๊กซี่ ICSI) เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนใหญ่จะใช้ในรายที่มีภาวะท่อนำไข่อุดตัน จะคัดเลือกเอาอสุจิ 1 ตัว มาฉีดเข้าไปในไข่ 1 ใบ ทำภายในห้องปฏิบัติการให้เกิดการปฏิสนธิแล้วเลี้ยงจนเป็นตัวอ่อน จนถึงระยะที่เหมาะสม จากนั้นก็ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการฝังตัวในโพรงมดลูกต่อไป
วิธีการต่างๆ ดังกล่าวนี้ เป็นขั้นตอนของการรักษา แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเลเซอร์เจาะเปลือกตัวอ่อน (Laser Assisted Hatching) เข้ามาช่วยเพิ่มให้อัตราความสำเร็จในการรักษามีมากขึ้น
โดย แสงเลเซอร์จะใช้ช่วยกรอผิวเปลือกนอกของตัวอ่อน ให้บางลงก่อนนำกลับคืนเข้าสู่โพรงมดลูก ทำให้ตัวอ่อนฟักตัวได้ง่ายขึ้น โอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะสูงขึ้น เทคโนโลยีเลเซอร์เจาะเปลือกตัวอ่อนนี้มีความปลอดภัย กับตัวอ่อนมาก เพราะสามารถกำหนดขนาดและความลึกในการกรอผิวเปลือกนอกได้อย่างแม่นยำ ไม่ทำให้เกิดความบอบช้ำกับตัวอ่อน เหมือนวิธีการใช้เข็มสะกิดแบบเดิมๆ