หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบแล้ว อาการของโรคนี้คล้าย ๆ กับไข้หวัด มีน้ำมูกข้น ไอเสมหะตลอดเวลา อาจปวดศีรษะได้ ในรายที่เป็นเรื้อรังหลาย ๆ เดือน คนไข้มักจะคิดว่าเป็นหวัดธรรมดา จึงละเลยไม่รักษา เมื่อมาพบแพทย์ก็ตรวจพบว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังไปแล้ว ถ้าท่านมีอาการดังกล่าวท่านควรปรึกษาแพทย์ ด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ปกติโพรงไซนัสจะเป็นโพรงว่าง ๆ บรรจุไปด้วยอากาศเป็นส่วนใหญ่ อยู่รอบ ๆ โพรงจมูก มีทั้งด้านซ้าย และขวา มีรูเปิดเล็ก ๆ เข้าสู่โพรงจมูก ในกรณีมีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น เนื้อเยื่อบุไซนัสจะบวมมากขึ้น และรูเปิดไซนัสจะบวมและปิดลง ทำให้ระบายอากาศไม่ได้ บางครั้งจะมีหนองขังอยู่ในโพรงไซนัส คนไข้จะมีอาการน้ำมูกข้นหรือเสมหะลงคอ ไอมีเสมหะเรื้อรังได้
สิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ คือ การถ่ายเอ็กซเรย์ไซนัส เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือบอกความรุนแรงของโรค กรณีที่เป็นมากมีหนองในไซนัส จะพบลักษณะขาวทึบ หรือมีระดับน้ำอยู่ในโพรงไซนัส มักจำเป็นต้องล้างไซนัสนั้นด้วย
อาการของโรคไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 2 แบบ
- แบบเฉียบพลัน อาการสำคัญคือ มีไข้สูงปวดศีรษะบริเวณหน้าผากหรือข้างจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง
- แบบเรื้อรัง อาการมักจะเป็นน้อย คนไข้อาจจะไม่ได้สนใจอาการแบบเรื้อรังมากนัก อาการสำคัญคือ น้ำมูกข้นเป็นเรื้อรังเสมหะลงคอข้น บางครั้งมีกลิ่นเหม็นในปาก ไอเรื้อรังมักเป็นเวลากลางคืน
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
- ไข้หวัด
- ภูมิแพ้
- ริดสีดวงจมูก
- เนื้องอกในจมูก
- สิ่งแปลกปลอมในจมูก
- การติดเชื้อบริเวณอื่นๆ เช่น รากฟันอักเสบ
การรักษาไซนัสอักเสบ
ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง มีทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยา การล้างจมูก การเจาะล้าง ไซนัสและการผ่าตัด
- ยารับประทาน โดยมากคนไข้มักหายได้จากการรับประทานยาต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ใช้เพื่อกำจัดเชื้อในโพรงจมูกและไซนัส ยาที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่ Amoxicillin, ถ้าแพ้ยากลุ่มดังกล่าวต้องเลือกใช้ยากลุ่มอื่น ๆ แทน เช่น Erythromycin, Trimetoprim+ Sulfamethoxazole
- ยาลดบวม (Decongestant) ช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อช่องจมูกและทำให้ช่องรูเปิดของโพรงไซนัสโล่งขึ้นมียา 2 รูปแบบ คือ ยาหยอดจมูก ได้ผลรวดเร็วแต่ไม่ควรใช้นานเกิน 4-5 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยา อีกรูปแบบหนึ่ง คือยาลดบวมชนิดรับประทาน ซึ่งจะปลอดภัยกว่าไม่มีปัญหาดื้อยาแต่อาจจะมีใจสั่นได้และควรระวังในคนไข้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ใช้ในรายที่มีประวัติภูมิแพ้เท่านั้น เนื่องจากผลข้างเคียงของยา ทำให้น้ำมูกและเสมหะเหนียวมากขึ้น ปากแห้งและง่วงนอน
- ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ทำให้น้ำมูกและเสมหะใส ช่วยระบายน้ำมูกออกจาโพรงไซนัสได้ง่ายขึ้น
- การล้างจมูก จุดประสงค์ของการล้างจมูกข้นน้อยลง ผู้ป่วยสามารถสั่งน้ำมูกออกมาได้ เป็นการลดอาการคัดจมูก ลดปริมาณน้ำมูกและลดจำนวนเชื้อโรคในโพรงจมูกและไซนัสได้
วิธีง่าย ๆ ในการล้างจมูก คือ ล้างมือให้สะอาด ผสมน้ำเกลือเตรียมไว้โดยใช้น้ำอุ่น 1 แก้ว ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย (กะประมาณโดยการชิม จะรู้สึกเค็มเล็กน้อย) หรือจะใช้น้ำเกลือในขวดที่แพทย์สั่งมาจากโรงพยาบาลก็ได้
- ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตซึ่งให้ความร่วมมือดี ให้ใช้ลูกยางแดงสูบน้ำเกลือให้เต็มลูกยางแดงขนาดเล็ก ดูดน้ำเกลือให้เต็มลูกยางแดง ยืนก้มศีรษะบริเวณอ่างล้างหน้าสอดปลายลูกยางแดงเข้าบริเวณรูจมูกทีละข้าง บีบลูกยาง
- ในเด็กเล็ก ๆ ให้ใช้ที่หยอดตา หรือหยอดยาเด็ก หยดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกแล้วใช้ลูกยางแดงขนาดเล็กดูดน้ำเกลือออกทางจมูก
- การเจาะล้างไซนัส ใช้ในรายที่มีอาการเป็นมาก รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น มีน้ำมูกหรือไอมีเสมหะข้น หรือเอ็กซเรย์ไซนัสพบว่ามีลักษณะขาวทึบ แสดงถึงหนองค้างอยู่ในโพรงไซนัส จำเป็นต้องล้างไซนัส
- การผ่าตัดไซนัส เป็นขั้นตอนในการรักษาวิธีสุดท้ายเมื่อใช้วิธีล้างไซนัส แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีริดสีดวงจมูก หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่น ตามัวลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อย ๆ
นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง จะช่วยให้คนไข้หายจากโรคไซนัสอักเสบได้ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง งดการสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดว่ายน้ำ ดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 7-8 แก้ว หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ซึ่งมีอากาศเย็นเป็นระยะเวลานาน ๆ รักษาโรคภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอ