ไข้หวัดใหญ่ ภัยร้ายทำลายสุขภาพ

22 ก.พ. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ อาจจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่า

ทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza หรือที่ในทางการแพทย์เราจะเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู” นั้น คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

 

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อไข้หวัดใหญ่

  • เด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอด เส้นเลือดสมองตีบ โรคไตเรื้อรัง

 

สังเกตอาการ ให้รู้เท่าทันไข้หวัดใหญ่

  • มีไข้สูงมากกว่าปกติ คือตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ มีอาการไอ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
  • ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย

 

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่

  • ภาวะหายใจลําบากเฉียบพลัน
  • โรคหอบหืดกำเริบ
  • หลอดลมอักเสบ
  • หูอักเสบ
  • โรคหัวใจ
  • โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ซึ่งอันตรายมากในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

 

ป้องกันอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่

  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องการการติดเชื้อ
  • ควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปี

 

อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

SHARE