โรคไทรอยด์เป็นพิษ!!

3 ก.ย. 2563 | เขียนโดย พญ.กรกฎ  ดำรงกิจชัยพร อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม

โรคไทรอยด์เป็นพิษ

เกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune disease) ทำให้ต่อมไทรอยด์มีการสร้างฮอร์โมนที่มากกว่าปกติ โดยสาเหตุของโรค ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่พบว่ามีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการ 

ที่พบ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น น้ำหนักลด ขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ ถ่ายบ่อย คอโตขึ้น ตาโปน มือเท้าอุ่นและมีเหงื่อออก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบแขนขาอ่อนแรง (periodic paralysis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งหากทิ้งไว้นานไม่ทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจวายได้

การรักษา

ในปัจจุบันมีสามวิธีหลัก

1.การกินยาต้านไทรอยด์ ใช้เวลาในการรักษา 12-18 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย การหยุดยาที่เร็วเกินไปจะทำให้โรคกลับเป็นซ้ำได้

2.การกลืนรังสีไอโอดีน เป็นการใช้รังสีรักษาปริมาณน้อย เพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้ลดลง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล แต่อาจต้องพักงาน และลดการสัมผัสกับบุคคลอื่นหลังการรักษา 5-7 วัน โดยต่อมไทรอยด์จะมีขนาดเล็กลงหลังการรักษา มีโอกาสเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำหลังการรักษาสูง ต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนต่อภายหลังการรักษา

3.การผ่าตัด สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน และมีโอกาสเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำหลังการรักษาเช่นกัน อาจพิจารณาในกรณีมีโรคอื่นของต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย เช่นเนื้องอกต่อมไทรอยด์

การปฏิบัติตัว

กินยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการควบคุมและติดตามโรคได้ดี

การกินอาหารโดยทั่วไป ไม่มีอาหารที่ห้ามเป็นพิเศษ แต่บางภาวะ เช่น ช่วงแรกที่เริ่มรักษายังมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษอยู่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะอาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นอีกได้ หรือหากมีแผนการรักษาเป็นการกลืนรังสีไอโอดีน ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลหรืออาหารที่มีไอโอดีนสูงช่วงก่อนการกลืนรังสี เป็นต้น

ไม่มีสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่มีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยในการรักษา หรือควบคุมโรค แต่ตรวจพบว่าการกิน ซีลีเนียม มีผลดีต่อการรักษาโรคอยู่บ้าง

การออกกำลังกาย

หากเป็นการทำกิจวัตรทั่วไปเช่นการเดิน ไม่มีข้อจำกัด แต่หากต้องการออกกำลังกายทีมีความหนักมากขึ้นเช่น High Intensity Interval Training หรือ การออกกำลังกายแบบมีการแข่งขัน (Competitive exercise) ควรมีการเฝ้าระวังการเต้นของหัวใจ หรือ อาจงดไปก่อนจนกว่าโรคจะมีการควบคุมที่ดีขึ้น

ระหว่างการรักษาสตรีควรคุมกำเนิดจนกว่าโรคจะสงบจนหยุดยาได้ระยะหนึ่ง หากต้องการตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ระหว่างการรักษาควรรีบแจ้งแพทย์ผู้รักษา เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกันต่อไป

 

 

 


สอบถามเพิ่มเติมที่ได้ที่ 02-006-8888

สนใจปรึกษาแพทย์สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ

#ให้สินแพทย์เป็นเพื่อนคุณ

#โรงพยาบาลสินแพทย์ศรีนครินทร์

SHARE