โรคไต…..ที่ไม่ได้มาจากกินเค็ม!

1 มี.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

“กินเค็มระวังเป็นโรคไตนะ” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม แต่โรคไตไม่ได้เข้าโจมตีแต่ผู้ที่ทานรสเค็มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองซึ่งส่งผลให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า

รู้จักโรคไต

ไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจางและขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด และที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และไตวาย

สาเหตุโรคไต…ที่ไม่ได้มาจากเค็ม

  • การทานอาหารรสจัด

นอกจากอาหารเค็มจัดแล้ว การทานอาหารรสหวานจัดก็ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไตทำงานหนักได้เหมือนกัน

  • ดื่มน้ำน้อย หรือมากเกินไป

การดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุของหลายๆ โรคเช่นกัน รวมไปถึงโรคไตด้วย เพราะไตฟอกของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองของไตจนกลายเป็นปัสสาวะ หากดื่มน้ำมากเกินไป ไตก็จะทำงานหนักเกินไป แต่หากดื่มน้ำน้อยมากเกินไป (ซึ่งมีโอกาสมากกว่า) ก็จะทำให้ปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งไม่ดีต่อไต และกระเพาะปัสสาวะด้วย

  • ขาดการออกกำลังกาย

การไม่ออกกำลังกายนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตทำงานหนัก จนเกิดปัญหาไตเสื่อมเร็วได้

  • ทำงานหนักเกินไป

เชื่อหรือไม่ว่าการทำงานหนักก็เป็นสาเหตุของโรคไตด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อวัยวะภายในร่างกายก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟู และซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่ออวัยวะที่คอยฟอกของเสียในร่างกายอย่างไตไม่ได้หยุดทำงาน ก็อาจทำให้ไตเสื่อมสภาพลงได้ง่าย

  • ทานอาหารสำเร็จรูป

แม้ว่าคุณอาจจะบอกว่าไม่ใช่คนทานเค็ม แต่หากคุณใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋องต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม โซดา และเครื่องดื่มบางประเภท คุณจะได้รับโซเดียมเข้าไปในร่างกายในปริมาณสูงโดยที่คุณไม่รู้ตัว ดังนั้นทานให้น้อยลงหน่อยนะ

  • รับประทานยากลุ่ม NSAIDs

นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารที่เราทราบกันดี ยังต้องระวังในเรื่องการทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริงๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้โรคไขมันและโรคอ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

ควรรีบพบแพทย์อายุรแพทย์โรคไต เมื่อมีอาการ

  • ขาบวม ผิดปกติ
  • ปัสสาวะผิดปกติ ติดขัด มีสีขุ่น มีเลือดปนออกมา
  • ปวดสีข้างร้าวไปหลัง หรือปวดร้าวมาถึงขาหนีบ
  • มีความดันสูง ต้องรับประทานยาหลายชนิด
  • ภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

 

คำแนะนำการรักษาสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรคไต

  • ตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคไตเป็นประจำทุกปี เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 30-40 นาที
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 2-3 ลิตร
  • งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะ เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อเรื้อรังได้
  • ไม่ควรรับประทานยาที่มีพิษต่อไต หรืออาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน

    “ไต” เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีวันหยุด เราจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพไตด้วยการลดเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง พร้อมตรวจสุขภาพไตเพื่อเช็กการทำงานว่ายังปกติอยู่หรือไม่ เพราะหากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อม… ก็อาจสายเกินกว่าจะกลับมาฟื้นฟูได้ทัน!!

SHARE