โรคเบาหวานทำไม…? ต้องรักษา

4 มี.ค. 2563 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

อาการของโรคเบาหวาน
อาการจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง คือ ปากแห้ง หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย สายตาพร่ามัว อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลด
อาการจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ เหงื่อออกมาก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หิวบ่อย สับสน ปากลิ้นชา ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว พูดช้าลง

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
การที่เป็นเบาหวาน แล้วไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ หรือมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด นำไปสู่โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น จอประสาทตาเสื่อม ปลายประสาทเสื่อม เกิดแผลเบาหวานที่เท้า

เป็นเบาหวานทำไม…? ต้องรับประทานยาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และให้สัมพันธ์กับมื้ออาหาร
ในผู้เป็นเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลด้วยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวได้ มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย
ยารักษาเบาหวานส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์วันต่อวัน ถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ในวันที่ไม่รับประทานยาก็อาจทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้

เป็นเบาหวานทำไม…? ต้องพบแพทย์เป็นระยะ
– เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และปรับขนาดของยาให้เหมาะสม (ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหาร และความก้าวหน้าของโรค)
– ตรวจหาอาการแทรกซ้อนแต่เนิ่นๆ เช่น เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) จอประสาทตาเสื่อม (Retinopathy) ซึ่งควรตรวจหาภาวะแทรกซ้อนเป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะได้แก้ไข และรักษาได้อย่างทันท่วงที

เป็นเบาหวานทำไม…? ต้องออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการได้พลังงานจากอาหารและการใช้พลังงาน การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่อฮอร์โมนอินซูลิน นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ช่วยลดและควบคุมน้ำหนักลดไขมันส่วนเกิน ทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

เป็นเบาหวานทำไม…?ต้องควบคุมอาหารร่วมด้วยทั้งๆ ที่รับประทานยาแล้ว
ยารักษาเบาหวาน เป็นยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้มีระดับของยาในเลือดใกล้เคียงกันทุกวัน
ดังนั้น ในผู้ที่เป็นเบาหวานจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหารที่รับประทานให้มีปริมาณใกล้เคียงกันเหมาะสมกับยาที่รับประทานเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือสูงเกินเกณฑ์ปกติ

เป็นเบาหวานทำไม…? ต้องฉีดอินซูลิน
ในผู้เป็นเบาหวานที่ได้รับยารับประทานเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผลในการรักษา เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรใช้อินซูลิน ไม่ได้หมายความว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรคที่เข้าใจกัน เพราะแพทย์ย่อมคำนึงถึงผลดีและผลเสียของการใช้อินซูลินเป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันมีอินซูลินชนิดพกพา ซึ่งทำให้สะดวกในการใช้งานมากขึ้น ลดความยุ่งยากจากการฉีดอินซูลินไปได้มาก

ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง…แสดงว่ารักษาโรคเบาหวานดีแล้ว จริงหรือ?
จุดประสงค์หลักในการรักษาโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติ และป้องกัน หรือ ชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้รู้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิด เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ต่ำเกินไป เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

เป็นเบาหวานทำไม…?ต้องตรวจ ฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (HbA1C)
ผลฮีโมโลบิน เอ วัน ซี จะช่วยบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ย ว่ามีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีหรือไม่ ซึ่งการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั่วไป จะบอกเพียงค่าน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลานั้น บางครั้งผู้ป่วยที่เจาะน้ำตาลในเลือดในช่วงเช้ามีผลปกติ แต่ในช่วงสาย หรือในวันอื่นๆ ระดับน้ำตาลในเลือดอาจผิดปกติได้

เป็นเบาหวานทำไม…?ต้องตรวจตาทุกปี
ผู้เป็นเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมรักษาอย่างถูกต้องพบว่ามีความผิดปกติทางตาได้บ่อย เช่น ตามัว จอประสาทเสื่อม หรือเบาหวานขึ้นตา ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ว่ามีความผิดปกติอะไร หรือไม่ อย่างน้อยปีละ1 ครั้ง เพราะหากตรวจพบและได้รับการดูแลในระยะแรกของโรค คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันจอประสาทตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน

เป็นเบาหวานทำไม…?ต้องตรวจการทำงานของไตทุกปี
ไตเสื่อมจากเบาหวานในระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการปรากฏ การวัดระดับสารพิษในเลือดก็จะยังไม่พบอะไรผิดปกติหากรอให้ระดับสารพิษในเลือดสูง ไตมักจะเสียหายไปกว่า 90 % แล้ว การตรวจปัสสาวะจะเริ่มพบอัลบูมินหรือไข่ขาวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการตรวจระดับไข่ขาวในปัสสาวะจึงมีความสำคัญมากในการที่จะพบความผิดปกติของไตในระยะแรกเริ่ม ซึ่งผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกปี ปีละครั้ง

เป็นเบาหวานทำไม…?ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเท้าทุกปี
ร้อยละ 15 ในผู้เป็นเบาหวาน จะเกิดแผลขึ้นที่บริเวณเท้าโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นนี้ จะใช้เวลาในการรักษานาน นอกจากนั้น โอกาสที่ต้องถูกตัดเท้าสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 15-46 เท่า การตรวจเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเท้าโดยที่ไม่รู้ตัวจะช่วยให้ดูแลเท้าได้อย่างรอบคอบ รวมทั้งช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเท้าได้มากกว่าครึ่ง

SHARE