โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (TIA) คืออะไร?

17 ส.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือ TIA คือ อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่มีระยะเวลาในการเกิดอาการน้อยกว่า 24 ชม. เดิมเชื่อกันว่า เกิดจากการที่สมองขาดเลือดเพียงชั่วคราว



โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือ TIA แตกต่างจาก Stroke ตรงที่ อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่มีระยะเวลาในการเกิดอาการน้อยกว่า 24 ชม. และหลังจากนั้นอาการหายเป็นปกติ

 

ทำความรู้จักกับ TIA

หากใครเคยได้ยินหมอสมองพูดว่า คุณเป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วคราว หรือ โรค T-I-A (ใช่ค่ะ อ่านตรงตัวสั้นๆง่ายๆเลยว่า ที-ไอ-เอ) คุณอาจจะกำลังสงสัยนะคะ ว่าโรคนี้คืออะไร ? มันมีอะไรที่เราต้องกังวลไหมเกี่ยวกับโรคนี้ วันนี้หมอมีคำตอบเกี่ยวกับนิยามของคำว่า หลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือ โรค TIA ความน่ากังวลของโรคนี้ และความแตกต่างของโรคนี้กับ Stroke มาเล่าให้ฟังค่ะ

 

นิยามโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราวฉบับดั้งเดิม

โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือ TIA คือ อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่มีระยะเวลาในการเกิดอาการน้อยกว่า 24 ชม. เดิมเชื่อกันว่า เกิดจากการที่สมองขาดเลือดเพียงชั่วคราว ซึ่งอาจจะเกิดจากเส้นเลือดแดงถูกอุดตัน หรือ เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมองก็ได้ โดยอาการผิดปกติทางระบบประสาทนั้น อาจมีสาเหตุที่แท้จริง จากการขาดเลือดของสมองจริงๆก็ได้ หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาของระบบสมองก็ได้

 

ในขณะที่โรคเส้นเลือดสมองตีบ (ถาวร)  หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า Stroke โดยนิยาม หมายถึง อาการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทและสมองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน และมีระยะเวลาในการเกิดอาการมากกว่า 24 ชม.เป็นต้นไป โดยทั่วไปแล้ว ความแตกต่างระหว่าง 2 ภาวะนี้ จะแยกกันที่เรื่องของระยะเวลา กล่าวคือ หากระยะเวลาที่มีอาการเกิดขึ้นและหายเป็นปกติภายในระยะเวลาที่ไม่เกิน 24 ชม. เราจะเรียกภาวะนี้ว่า TIA แต่ถ้าระยะเวลาที่มีอาการมากกว่า 24 ชม. เราจะเรียกภาวะนั้นว่า Stroke นั่นเองค่ะ

 

นิยามของ TIA แบบใหม่

แต่ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถตรวจภาพรังสีแม่เหล็กสมอง หรือ MRI brain ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยเทคนิค diffusion-weighted MRI (DWI) ที่จะสามารถตรวจพบภาวะสมองขาดเลือดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ทำให้นิยามของ TIA และ Stroke ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุด สมาคม The American Stroke Association and American Heart Association ได้ระบุนิยามของภาวะ TIA ในปี2019 ไว้ว่า เป็นภาวะความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นที่สมอง ไขสันหลัง หรือจอประสาทตา ที่เกิดจากการขาดเลือด (Ischemia) แต่ยังไม่พบภาวะเซลล์สมองตาย(Infarction)

ในขณะที่ Stroke หมายถึง ภาวะที่พบการตายของเซลล์สมองหรือระบบประสาทส่วนกลางแล้วนิยามในปัจจุบัน จึงไม่ได้ตัดกันที่ระยะเวลาของการเกิดอาการทางระบบประสาทเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่อาจจะต้องใช้การตรวจภาพถ่ายรังสีทางสมองมาช่วยในการวินิจฉัยร่วมด้วย ซึ่งการแยกภาวะ สองภาวะนี้ออกจากกัน จะสามารถช่วยบ่งชี้พยากรณ์ของโรค รวมถึงแนวทางการรักษาในระยะยาวได้อีกด้วยค่ะ

 

สาเหตุที่แท้จริงของ TIA อาจไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองเสมอไป

ดังที่เกริ่นไว้แล้วในข้างต้น TIA เปรียบเสมือนเป็นภาวะชั่วคราว ที่บ่งชี้ ว่ามีอาการที่ผิดปกติของระบบประสาท และอาการนั้นๆ เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ และเป็นชั่วคราว แต่สาเหตุ อาจจะไม่ได้เกิดจากการขาดเลือดของสมองเสมอไปแบบที่มักจะเป็นสาเหตุของ Stroke

จึงเป็นเหตุผลที่หมอคิดว่า คนที่มีอาการของระบบประสาทที่เป็นเพียงชั่วคราวแล้วหายไป อย่านิ่งนอนใจเพราะ คิดว่าเป็นอาการ mini-stroke คือ เป็น Stroke เล็กๆน้อยๆ ที่ไม่รุนแรง เพราะจริงๆแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของ TIA ได้มากกว่านั้น ทั้งสาเหตุที่รุนแรงน้อย จนไปถึงสาเหตุที่รุนแรงมากๆ เช่น

 

  • ภาวะสมดุลเกลือแร่บางชนิดผิดปกติ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง, ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง, ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
  • อาการปวดศีรษะที่ร่วมกับมีอาการนำหรือออร่า (Migraine with aura)
  • โรคปลอกประสาทแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • อาการชักเกร็งบางส่วน (Partial epileptic seizure)
  • รอยโรคบางอย่างในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง, ภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง, ภาวะความผิดปกติของหลอดเลือด, ภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพอง

 

เราไม่มีทางรู้ได้จากการตรวจร่างกายภายนอกเพียงอย่างเดียว ว่าสาเหตุที่คุณมีอาการทางระบบประสาทเพียงชั่วคราว เป็นๆหายๆนั้น จะเกิดจากสาเหตุอะไรอย่างแน่ชัด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่อย่างน้อยแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการที่น่าสงสัย ควรได้รับการประเมินทางระบบประสาท เช่น การเอ็กซเรย์สมอง (เป็นอย่างน้อย) และเจาะเลือดตรวจเบื้องต้น ถึงแม้ว่าในขณะนั้นอาการจะหายเป็นปกติแล้วก็ตาม เพราะสาเหตุต่างๆเหล่านี้ อาจยังพบว่าผิดปกติอยู่ ถึงแม้อาการจะหายแล้ว แต่หากสาเหตุดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาการก็อาจจะเกิดซ้ำในอนาคตได้

 

เมื่อมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท อย่านิ่งนอนใจ!!

จากประสบการณ์ของหมอเอง ในฐานะที่เป็นแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมอง ได้พบเจอผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทบ่อยครั้ง ที่นิ่งนอนใจ คิดว่าอาการที่ผิดปกติที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ปล่อยไว้สักพัก แล้วอาการอาจจะหายเอง หากคุณเป็นเพียง TIA หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว คุณอาจจะโชคดี ที่เป็นแบบนั้น คืออาการหายเองได้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชม. แต่เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลยว่า อาการของคุณที่ผิดปกตินี้มันจะเป็น Stroke จริงๆ หรือว่าจะหายไปแบบเอง และในบางคนที่เป็น TIA ซ้ำๆหลายครั้ง สุดท้ายแล้วก็กลายเป็น Stroke จริงๆ ก็มี

ดังนั้น เรื่องของสมอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรรอ หรือรอได้ หมอชอบพูดกับคนไข้บ่อยๆว่าเวลาที่เนื้อสมองตายหรือInfarctไปแล้ว เซลล์สมองส่วนนี้มักจะไม่ฟื้นขึ้นมาได้อีก สิ่งที่เราพอจะทำได้คือ ควรจะรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ด้วยความคาดหวังว่า การประเมินและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่าระบบ Stroke Fast Track จะช่วยทำให้สมองของเราไม่ถึงขั้นเกิดเป็นเนื้อตาย เมื่อกู้คืนเซลล์สมองได้มากเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสที่เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีความผิดปกติทางระบบประสาท จำไว้เลยนะคะ ว่าอย่านิ่งนอนใจ ให้รีบมารพ.ค่ะ

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการศูนย์โรคระบบประสาทและสมองที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

พญ.อาภากร ซึงถาวร

SHARE