โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy)
โรคภูมิแพ้อาหาร คือ ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการตอบสนองต่อโปรตีนในอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่แพ้ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นลมพิษ หน้าบวมปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน ถ่ายเหลว ซึ่งปฏิกิริยาการแพ้อาหารแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ชนิดเฉียบพลัน (IgE mediated food allergy) ซึ่งมักเกิดปฏิกิริยารวดเร็วทันทีหลังรับประทาน หรือภายใน 2-4 ชม. อาการแสดง เช่น ผื่นลมพิษ ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืดหมดสติ
- ชนิดไม่เฉียบพลัน (non-IgE mediated food allergy) อาจค่อย ๆ เกิดอาการหลังรับประทานได้หลายชั่วโมงถึงหลายวัน เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด
การทดสอบการแพ้อาหารโดยรับประทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test)
เป็นวิธีการทดสอบเพื่อวินิจฉัยการแพ้อาหารที่ให้ผลแม่นยำที่สุด (Gold standard test) แต่การทดสอบดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงได้ในขณะทดสอบ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมผู้ป่วยก่อนทำการทดสอบอย่างดี และจะต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางในสถานที่ที่มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาการแพ้รุนแรงได้ทันที โดยทั่วไปเราจะเลือกใช้การทดสอบนี้ในกรณีที่ประวัติการแพ้ไม่ชัดเจน มีประวัติคลุมเครือจากการแพ้อาหารหลายชนิด มีประวัติชวนสงสัยว่าแพ้อาหารแต่ทำการทดสอบด้วยการสะกิดผิวหนังให้ผลเป็นลบ หรือ ทำการทดสอบในผู้ป่วยที่เคยแพ้อาหารที่อาจจะหายแล้ว
การเตรียมตัวและวิธีการทดสอบ
- ซักประวัติ และสืบหาอาหารที่สงสัยว่าแพ้
- ทำการทดสอบเบื้องต้นด้วยการสะกิดผิวหนัง หรือตรวจเลือด specific IgE ต่ออาหารที่แพ้
- ผู้ป่วยจะต้องหยุดยาแก้แพ้อย่างน้อย 7 วันก่อนทำการทดสอบ และต้องไม่มีประวัติเจ็บป่วยในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการทดสอบ
- ในวันที่ทำการทดสอบ ให้ผู้ป่วยเตรียมอาหารที่สงสัยว่าแพ้มาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด จากนั้นทีมแพทย์จะจัดเตรียมอาหารเป็นสัดส่วนสำหรับทดสอบ
- ผู้ปกครองเซ็นใบยินยอมการรักษา (Consent Form)
- วัด Vital Sign ก่อนทำการทดสอบ เปิดเส้นเลือดสำหรับการให้ยาฉุกเฉิน
- เตรียมยาฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีที่แพ้ ได้แก่ Adrenaline (dose 0.01 ml/kg/dose maximum 0.3 ml ในเด็ก และ 0.5 ml ในผู้ใหญ่), Chlorpheniramine, 0.9%NaCl
- เริ่มรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ ตามปริมาณที่กำหนด (ตาม Protocol) จดบันทึกเวลาจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทุก 15-30 นาทีจนครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ระหว่างการทดสอบจะต้อง วัดสัญญาณชีพและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
- หลังรับประทานจนครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด หากไม่มีอาการ จะสังเกตอาการต่ออีก 1 ชั่วโมง หากไม่มีอาการใดๆ ให้ กลับบ้านและสังเกตอาการแพ้ชนิดไม่เฉียบพลันที่บ้านต่อ 3 วัน
- Off heparin lock แนะนำผู้ป่วยสังเกตอาการแพ้ ต่อที่บ้าน และนัดดูอาการ 3 วัน
การรักษาผู้ป่วยแพ้อาหารรุนแรงด้วยวิธีการกิน SOTI (Specific oral tolerance induction)
เป็นการรักษารักษาภาวะแพ้อาหารโดยวิธีรับประทาน โดยการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปทีละน้อย มากเท่าที่ผู้ป่วยทนได้ และไม่เกิดอาการ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทุก 2-4 สัปดาห์ โดยจะต้องรับประทานทุกวันเป็นเวลา 3-5 ปี การรักษานี้ จะทำในเฉพาะรายที่ไม่หายจากอาการแพ้ เมื่อถึงช่วงอายุที่ควรหาย ร่วมกับเกิดอาการแพ้รุนแรงบ่อย เนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารชนิดที่แพ้ ได้
วิธีการรักษา
- ครั้งแรกที่รับการรักษา จะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล (ICU) อย่างน้อย 3 วัน เพื่อทดสอบการแพ้อาหาร โดยวิธีการกินทีละน้อยเพื่อหาปริมาณอาหารที่กินแล้วเกิดอาการแพ้ โดยจะมีแพทย์และพยาบาลเฝ้าตลอดทำการรักษา เนื่องจากการทดสอบดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องรับประทานจนเกิดอาการจึงหยุดทำการทดสอบต่อเมื่อทราบปริมาณที่ผู้ป่วยทนได้มากที่สุด (elicit dose) จะให้ผู้ป่วยกลับบ้าน และรับประทานอาหารในปริมาณดังกล่าวทุกวัน
- ในการรักษาครั้งถัดไป จะนัดผู้ป่วยทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มปริมาณ (up dosing) โดยจะทำการรับไว้ดูแลในโรงพยาบาลครึ่งวัน โดยจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลติดตามอาการตลอด
พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ