โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเกิดจากกการที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าที่ไปเลี้ยงบริเวณใบหน้าถูกกดทับจากสาเหตุต่างๆ โดยส่วนมากมักเกิดจากเส้นเลือดสมองที่อยู่ใกล้เคียงไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้การทำงานของเส้นประสาทผิดปกติและไวต่อการกระตุ้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ในสมองกดเบียดเส้นประสาท มีการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังบริเวณใบหน้าและอาจมีอาการรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเกิดจากอะไร ?
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเกิดจากกการที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าที่ไปเลี้ยงบริเวณใบหน้าถูกกดทับจากสาเหตุต่างๆ โดยส่วนมากมักเกิดจากเส้นเลือดสมองที่อยู่ใกล้เคียงไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้การทำงานของเส้นประสาทผิดปกติและไวต่อการกระตุ้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ในสมองกดเบียดเส้นประสาท มีการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
อาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเป็นอย่างไร ?
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะปวดแปล็บคล้ายไฟช็อตหรือถูกเข็มแทง อาจมีอาการปวดคล้ายปวดฟันหรือปวดเหงือก อาการปวดจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน มักมีอาการเป็นช่วงๆ ช่วงเวลาสั้นๆ เป็นซ้ำตลอดวัน โดยจะมีอาการมากเมื่อถูกกระตุ้นโดยการสัมผัส เช่น ลมพัด ล้างหน้า แปรงฟัน การทานอาหาร เมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดอาจเป็นบ่อยหรือปวดรุนแรงขึ้นจนทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าวินิจฉัยได้อย่างไร ?
การวินิจฉัยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI scan) เพื่อดูการกดทับของเส้นประสาทจากสาเหตุต่างๆ เช่น เนื้องอกสมอง หรือการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis
วิธีการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
-
การรักษาด้วยยา
สำหรับผู้ที่มีอาการในระยะแรกๆมักตอบสนองต่อยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท เช่น Dilantin Carbamazepine Gabapentin Baclofen แต่เนื่องจากการใช้ยาไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุของโรค ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีอาการปวดอีกหลังหยุดทานยาและยาอาจได้ผลลดลงในระยะหลังๆ
-
การรักษาโดยการทำลายเส้นประสาท
การรักษาโดยการทำลายเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าโดยวิธีต่างๆ เช่น การฉายรังสี การใช้ความร้อน หรือการฉีดสารกลีเซอรอลทำลายเส้นประสาท สามารถทำให้อาการปวดลดลงแต่จะเกิดผลข้างเคียงคืออาการชาบริเวณใบหน้าซึ่งอาจเกิดขึ้นถาวรได้ ข้อดีของการรักษาวิธีนี้ คือ ไม่ต้องได้รับการผ่าตัด มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้
-
การรักษาโดยการผ่าตัด
โดยการผ่าตัดเพื่อเคลื่อนย้ายเส้นเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก เป็นการแก้ไขที่สาเหตุจึงมีโอกาสหายขาดจากโรคสูง ความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนขณะดมยาสลบ