โรคคอตีบ ร้ายแรง แต่ป้องกันได้

29 พ.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน ศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

คอตีบ หรือ ดิฟทีเรีย (Diphtheria) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Corynebacterium diphtheriae ผ่านทางการไอ จาม รดกัน หรือใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกัน



คอตีบ หรือ ดิฟทีเรีย (Diphtheria) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Corynebacterium diphtheriae ผ่านทางการไอ จาม รดกัน หรือใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกัน

 

หากมีการติดเชื้อจะทําให้เกิดการอักเสบขึ้นในช่องทางเดินหายใจ ตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีแผ่นเยื่อลักษณะเป็น ปื้นสีขาวเทาหรือเหลืองเทาเกิดขึ้นในช่องลําคอ จนทําให้มีภาวะทางเดินหายใจตีบแคบและอุดตันได้ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “คอตีบ” ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มักเป็นสาเหตุทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

 

ประเทศไทยยังพบโรคคอตีบอยู่บ้างประปรายตลอดทั้งปี และเคยมีการระบาดใหญ่ของโรคคอตีบในผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-50 ปี มีระดับภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคคอตีบ เนื่องจากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี ส่วนในกลุ่มเด็กเล็กประเทศไทยมีโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่ ทารกอายุได้ 2 เดือน การระบาดที่เกิดขึ้นประปรายแต่ละครั้งจึงมักพบในเด็กที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน หรือ ฉีดวัคซีนไม่ครบ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนหรืออาศัยอยู่บริเวณชายแดน หรือเป็นกลุ่มคนที่อพยพ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

โรคคอตีบติดต่อกันอย่างไร?

 

โรคคอตีบ สามารถติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จากคนสู่คน โดยเชื้อจะอยู่ในนํ้ามูก นํ้าลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะของโรค (ไม่แสดงอาการแต่ยังคงแพร่เชื้อได้) และอาจพบเชื้อที่ผิวหนังได้ด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยไอหรือจามรดกัน รวมถึงการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะประชิด การใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ช้อน แก้วนํ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น) ผู้สัมผัสก็สามารถติดเชื้อได้

 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ?

 

ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ, ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น, ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ที่เป็นโรคคอตีบ, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคตํ่าหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่แออัดและ ขาดสุขอนามัย และผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาดของโรค

 

อาการของโรคคอตีบ      

 

หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-7 วัน (โดยเฉลี่ย 3 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ตํ่า ๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ มาก กลืนลําบาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก บางรายจะพบอาการต่อมนํ้าเหลืองบริเวณลําคอโต และพบแผ่นเยื่อสีเทาหรือเหลืองปนเทา ดูคล้ายเศษผ้าสกปรกยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อปกติอยู่บริเวณต่อมทอนซิล คอหอย ลิ้นไก่ และเพดานปาก (แผ่นเยื่อนี้เกิดจากการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีการสร้างสารพิษออกมาทําให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบตายลงและซ้อนทับกัน โดยจะพบเกิดได้ตั้งแต่ในโพรงจมูกลงไปจนถึง ลําคอ แต่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณต่อมทอนซิลและคอหอย) ซึ่งแผ่นเยื่อนี้จะเขี่ยออกได้ยาก ถ้าฝืนเขี่ยออก จะทําให้มีเลือดออกได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว เรียกว่า “อาการคอวัว” (Bull neck) ซึ่งบางรายอาจกดทับหลอดเลือดดําที่คอ ทําให้ใบหน้ามีสีคลํ้าจากการมีเลือดคั่ง กรณีดังกล่าวผู้ป่วยจะมี อาการหายใจเสียงดัง วี๊ด หายใจลําบาก เหนื่อยหอบ ซึ่งเป็นอาการแสดงของทางเดินหายใจอุดตัน ซึ่งหากไม่ ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคอตีบ

 

  • ภาวะทางเดินหายใจตีบตัน มักเกิดในช่วงวันที่ 2-3 ของโรคในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หากผู้ ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10-14 ของการเจ็บป่วย (แต่อาจพบได้ใน 6 สัปดาห์) ทําให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจบีบตัวผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจวาย และอาจทําให้เสียชีวิตอย่าง ฉับพลันได้ ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะนี้สูงถึง 50%
  • ภาวะเส้นประสาทอักเสบ ทําให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลูกตา กล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลืนเป็น อัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลําบาก พูดเสียงขึ้นจมูก ขย้อนนํ้าและอาหารออกทางจมูก อาจมีอาการตาเหล่ มองเห็นภาพซ้อน บางรายอาจมีการอ่อนแรงของกระบังลมร่วมด้วย ทําให้หายใจลําบาก และอาจทําให้เสียชีวิตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะไตวาย ไตทํางานผิดปกติ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ

 

การวินิจฉัยโรคคอตีบ

 

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการฉีดวัคซีน การตรวจร่างกาย การนําหนองหรือสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูกหรือจากลําคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้อ และอาจมีการ ตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

 

วิธีรักษาโรคคอตีบ

 

เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบ แพทย์จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้อยู่ในห้องแยกโรคเพื่อ ป้องกันการแพร่กระจาย และพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านพิษ เชื้อคอตีบ ตามข้อบ่งชี้ แพทย์จะเฝ้าระวัง เรื่องภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิตเนื่องจากโรค คอตีบอาจจะทําให้เกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงสํารวจและซักประวัติผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อ วินิจฉัยและให้การรักษาผู้ที่มีเชื้ออยู่ และให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ผู้สัมผัส

 

วิธีป้องกันโรคคอตีบ

 

โรคคอตีบสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการรักษาสุขอนามัยทั่วไปเป็นประจําสมํ่าเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ ใกล้ชิด การสัมผัสผู้ป่วยในระยะติดต่อ การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน และป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนี้

  • สําหรับเด็กให้ฉีดวัคซีนตามโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้ฉีดในรูปแบบของวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ทั้งหมด 5 เข็ม เป็น ระยะ ๆ จากอายุ 2 เดือนจนถึงอายุ 6 ปี โดยเข็มแรกให้ฉีดที่อายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี ต่อจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุได้ประมาณ 12-16 ปี
  • ในผู้ใหญ่ถ้าเคยได้รับวัคซีนครบมาก่อนแล้ว ควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี (Td vaccine และ ให้กระตุ้นด้วย Tdap หนึ่งครั้ง)
  • ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้เริ่มรับการฉีดวัคซีนทันที
  • ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ จึงอาจมีโอกาสเป็นโรค คอตีบซํ้าได้อีก ดังนั้น จึงต้องมีการฉีดกระตุ้นเพื่อป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคติดเชื้อ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

SHARE