เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของทุกปี โรคติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ มักกลับมาระบาดอีกครั้ง ยิ่งสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เอื้อต่อการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ ง่ายยิ่งขึ้น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่เราควรเฝ้าระวังและป้องกันมีดังนี้
โรคไข้หวัด
โรคไข้หวัด (Common Cold) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจต่างๆ เช่น อะดีโนไวรัส ไรโนไวรัส พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น น้ำมูกใส คัดจมูก จาม ไอ เจ็บคอ อาการมักไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถหายได้เองโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่น ร่วมกับการใช้ยารักษาตามอาการ
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) สายพันธุ์ต่างๆ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดตัว ไอ เสมหะ เจ็บคอ น้ำมูก อ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการรุนเเรง ผู้ป่วยอาจมีอาการหอบเหนื่อยหรือปอดอักเสบได้ การรักษาแพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ได้
โรคโควิด-19
โรคโควิด 19 เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2019 ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่นที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผู้ป่วยอาจมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก อ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย ปอดอักเสบ ผู้ป่วยที่แข็งแรงดีสามารถรักษาตามอาการได้ แต่หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและพิจารณารับยาต้านไวรัส
โรคคออักเสบและโรคทอนซิลอักเสบ
โรคคออักเสบ (Pharyngitis) และ ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในคอ สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักพบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้ เจ็บคอมาก กลืนลำบาก คอแห้ง เสียงแหบ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตกดเจ็บ การรักษาแพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะในรายที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการ
โรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา บริเวณหลอดลมฝอย ถุงลม และเนื้อเยื่อรอบถุงลม ติดต่อผ่านทางการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย ที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง ไอ เสมหะ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกเวลาไอ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลวได้
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดเป็นเวลานาน ๆ หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
#โรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรา
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ