เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด

30 เม.ย. 2564 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลยังไม่มีบริการฉีดวัคซีน COVID-19 หากพร้อมให้บริการจะรีบแจ้งให้ท่านทราบโดยเร็วที่สุด



ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรมีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกต้อง

วัคซีนโควิด-19 ได้รับการยืนยันว่า ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค Covid-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% ดังนั้นแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นโรคโควิด-19 ได้อยู่ วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคตไม่รวมถึงเชื้อกลายพันธุ์  และต้องใช้ช่วงเวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ จึงควรต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันโรค เช่นเดิม คือ  สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือให้สะอาดและถูกวิธี และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด

 

วัคซีนโควิดที่เริ่มฉีดในประเทศไทยมีชนิดไหนบ้าง ?

วัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ในปัจจุบัน มี 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1.วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม ได้แก่ เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) วัคซีนกลุ่มนี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่สังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA: mRNA) ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส วัคซีนจะทำหน้าที่พา mRNA เข้าเซลล์ และ กํากับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ  วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna  จากข้อมูลในปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณ 95% ป้องกันการป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% วัคซีนของบริษัท Pfizer ควรได้รับการฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 3 สัปดาห์ ส่วน วัคซีนของบริษัท Moderna ควรได้รับการฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 4 สัปดาห์

 

2.วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) วัคซีนกลุ่มนี้ใช้ไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)โดยนำมาดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด19 ติดไปด้วย เมื่อนํามาฉีดไวรัสพาหะเหล่านี้จะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้มภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีย์ต่อไวรัสโรคโควิด19 ตามสารพันธุกรรมที่ใส่เข้าไป อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นวัคซีนที่ไวรัสอะดีโนไม่แบ่งตัว แต่ยังจัดเป็นไวรัสที่มีชีวิตเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงยังไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่านี้ ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ที่ใช้กันแพร่หลายมี 4 แบรนด์ ได้แก่ ไวรัสอะดีโนของชิมแพนซี (Chimpanzee adenovirus) โดยบริษัท Astra Zeneca มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 70-80% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%, ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 5 (Human adenovirus type 5) โดยบริษัท CanSinoBio มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 60%, ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 26 (Human adenovirus type 26) โดยบริษัท Johnson and Johnson

มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 64-72% และ ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 5 และ 26 (Human adenovirus type 5 and26) โดยบริษัท Gamaleya ของรัสเซีย มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 90%

 

3.วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) วัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทั่วโลกมีความคุ้นเคยมานาน เพราะใช้ในการผลิตวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ผลิตโดยการ สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส ด้วยระบบ cell culture, yeast, baculovirus เป็นต้น แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด19 วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันคือ วัคซีนแบรนด์ Novavax ซึ่งผลิตจาก baculovirus และใช้ Matrix M เป็นตัวกระตุ้นภูมิ มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 60-90% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%

 

4.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนกลุ่มนี้ผลิตโดยนําไวรัสโรคโควิด19 มาเลี้ยงขยายจํานวนมาก และนํามาทำให้เเชื้อตาย  การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสทุกส่วน เสมือนได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะเชื้อตายแล้ว  เทคโนโลยีนี้เป็นวิธีที่ใช้กับวัคซีนตับอักเสบเอ โปลิโอชนิดฉีด จึงมีความคุ้นเคยในประสิทธิภาพและความปลอดภัยมานาน แต่เนื่องจากการเพาะเลี้ยงไวรัสต้องใช้ความระมัดระวังมาก ทําให้ผลิตได้ช้าและ

มีราคาแพง วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 50-70% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%

 

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนโควิด 19

วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที

 

**หากมีอาการดังต่อไปนี้ หลังได้รับวัคซีน รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

  • ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง
  • เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หายใจไม่ออก
  • อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง
  • ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก
  • มีจุดจ้ำเลือดออกจํานวนมาก
  • ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว
  • แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ชัก หรือหมดสติ

 

หลังฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเป็นโควิดหรือไม่ ?

เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% ดังนั้นแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นโรคโควิดได้อยู่ แต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค อัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน

 

ฉีดวัคซีนแล้วจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง อันตรายหรือไม่ ?

ผลข้างเคียงที่พบจากวัคซีนส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด และผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ต่ำๆ เมื่อยล้า ส่วนอาการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis ) มีรายงานบ้างแต่พบได้น้อยมาก

 

ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19

เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยยังมีวัคซีนในจำนวนที่จำกัด กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค จึงกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับวัคซีนตามลำดับ หรือเริ่มจากพื้นที่ที่มีการระบาดก่อน และเริ่มฉีดกับประชาชนทั่วไป ในกลุ่มแรกที่จะให้เริ่มลงทะเบียน วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นี้ คือ

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน หรือผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2504
  • ผู้ป่วย(อายุ 18ปี ถึงอายุ ต่ำกว่า 60 ปี) 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ดังต่อไปนี
    • โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคไตเรื้อรังระยะ 5
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วย เคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคอ้วน ที่มีน้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

 

เด็กควรฉีดวัคซีนโควิดหรือยัง ?

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวคและวัคซีนของแอสทราเซเนก้ายังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคนอายุน้อยกว่า 18 ปี จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กในขณะนี้

 

หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ ?

เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่มากพอในหญิงตั้งครรภ์ จึงยังไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นแต่หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคประจำตัว หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่มีโอกาสสัมผัสโรค อาจพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียและปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป

 

หลังฉีดวัคซีนโควิดต้องตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหรือไม่ ?

หลังฉีดวัคซีนโควิดไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกัน ยกเว้นมีวัตถุประสงค์ในการตรวจเพื่อการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยเท่านั้น

***วัคซีนโควิด-19 ที่ให้บริการในปัจจุบันนี้ ยังเป็นชนิดฉีด 2 เข็ม ควรมารับวัคซีนครั้งที่ 2 ให้ครบถ้วนตามกำหนด เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันโรค และยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดกระตุ้นภูมิเมื่อใดหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้งแล้ว

 

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

ผู้ที่รับวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่มีก็ได้ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้มีดังนี้

  • อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะเล็กน้อย
  • อาการคล้ายมีไข้  คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ
  • อาการที่พบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อยเช่น มีไข้ มีก้อนที่บริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน
  • ความอยากอาหารลดลง เหงื่อออกมากผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหล ไอ เป็นต้น

 

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ที่ฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง

เช่น หายใจติดขัด (Shortness of Breath) มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือในทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

ข้อควรระวัง ฉีดวัคซีนโควิด-19

สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่

  1. มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  2. มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  3. มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น ยาวาร์ฟาริน
  4. ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  5. อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  6. ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

***อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีไข้เล็กน้อย แพทย์อาจให้ฉีดวัคซีนได้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนการฉีด กรณีเจ็บป่วยรุนแรงแพทย์อาจเลื่อนการฉีดออกไปก่อน โดยพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

 

การปฏิบัติตัวหลังได้รับวัคซีน ผู้ฉีดวัคซีนจะต้องอยู่เฝ้าสังเกตอาการที่สถานพยาบาลหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที

โดยระหว่างนั้นและหลังจากนั้นให้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้างต้น และให้แจ้งอาการข้างเคียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรด้วย เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่อาจจะมีบางอาการที่ยังไม่พบตามข้างต้น หากมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ให้มาพบแพทย์โดยทันที และให้เก็บบันทึกการฉีดวัคซีนไว้เป็นหลักฐานด้วย

 

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE