สมองขาดเลือด (Stroke)

2 ก.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์สมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดการตีบตัน ทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นขาดออกซิเจน และสารอาหารที่จำเป็น ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นต้น



Q: สมองขาดเลือด คืออะไร

A: คือ ภาวะที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดการตีบตัน ทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นขาดออกซิเจน และสารอาหารที่จำเป็น ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นต้น

ในระยะแรกที่สมองขาดเลือด จะยังไม่เกิดสมองตายในบริเวณนั้นทันที ในระยะนี้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยได้เร็ว จะสามารถให้การรักษา เพื่อให้เลือดมีโอกาสกลับมาเลี้ยงสมองได้เกือบปกติ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน โอกาสที่จะทำให้สมองกลับมาทำงานได้ตามปกติก็จะยิ่งลดลง

 

 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด มีหลายประการ ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • อ้วน
  • โรคหัวใจบางชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

Q: อาการแบบใดที่น่าสงสัยว่า เกิดภาวะสมองขาดเลือด

A: เนื่องจากสมองของมนุษย์ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานหลายด้าน ดังนั้น อาการของภาวะสมองขาดเลือดจึงขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดอาการ แต่มีอาการที่เราสังเกตได้ง่ายๆ และควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว คือ อาการแขนขาอ่อนแรงครื่งซีก ชา ปากเบี้ยว เวียนศีรษะรุนแรง พูดไม่ชัด มีความผิดปกติในการสื่อสาร เช่น ไม่สามารถพูดได้ตามปกติ ฟังไม่เข้าใจ หรือในรายที่มีอาการมาก อาจมีอาการชักหรือหมดสติ

 

Q: โรคสมองขาดเลือด มีวิธีการรักษาอย่างไร

A: แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจสแกนสมอง (CT-Scan)  เพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยแยกสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น หากตรวจพบว่ามีภาวะสมองขาดเลือด และคนไข้มาถึงโรงพยาบาลในช่วงเวลาที่สมองยังมีโอกาสฟื้นตัวได้จากยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ(หรือภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งหลังเกิดอาการ)แพทย์อาจพิจารณารีบให้ยาดังกล่าว

 

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมาถึงโรงพยาบาลหลังจากเวลานั้นแล้ว ก็ยังมีการรักษาอื่นๆ ที่ช่วยไม่ให้เนื้อสมองเสียหายมากขึ้น เช่น ให้ยาต้านเกร็ดเลือด

การรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่เกิดภาวะสมองบวมร่วมด้วย หรือมีเลือดออกและคั่งในสมอง

การทำกายภาพบำบัด จะช่วยให้แขนขามีการทำงานได้ดีขึ้น และกล้ามเนื้อไม่ฝ่อลีบ

การรักษาในระยะยาว แพทย์จะให้การรักษาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองขาดเลือด

 

**** สิ่งสำคัญ คือ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดโรค เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถ้ามีอาการของโรคแล้ว แม้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ ความสามารถในการฟื้นตัวของสมองก็มักไม่กลับมาอยู่ในภาวะปกติ

 

****ทุกวินาทีมีค่า ต้องรีบรักษา อย่าเสียเวลากับการเดินทางที่ไม่อาจคาดเดาได้****

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมอง

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

SHARE