วัคซีนโควิด ความหวังของคนทั่วโลก!

24 ธ.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน ศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในปัจจุบันต่างก็มุ่งหวังให้ร่างกายสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งทุก Platforms การพัฒนาและการผลิตวัคซีน เน้นนำ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของไวรัส เช่น โปรตีน หรือสารพันธุกรรม (mRNA) มาผลิต เพื่อให้ร่างกายเรารู้จักส่วนหนึ่งหรือหน้าตาของไวรัสตัวนี้ และสามารถสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 เพื่อเอาไว้ใช้ได้ แต่ไม่ได้นำไวรัสทั้งตัวมาผลิต ดังนั้นวัคซีนที่พัฒนาในปัจจุบันจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคโควิด-19 จากวัคซีนได้



จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 70 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 1.6 ล้านคนทั่วโลก วัคซีนป้องกันโควิดจึงเป็นความหวังสำคัญที่จะสามารถยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดนี้ได้

วันนี้หมอจึงขอเล่าเรื่องง่าย ๆ ให้ฟังค่ะ ว่าวัคซีนทำอะไรกับร่างกายเรา และเพราะเหตุใดวัคซีนจึงจะหยุดการระบาดได้

โดยปกติเมื่อ เชื้อโรค เล็ดลอดผ่านเข้าร่างกายเราทางใดทางหนึ่ง เชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนพวกพ้องของตนเองเป็นทวีคูณ (สร้างสำเนาด้วย RNA หรือ DNA ของตนเองอย่างรวดเร็ว) และพอพวกมันมีจำนวนมากพอ ก็จะโจมตีร่างกายเรา ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งร่างกายของเราก็มีกลไกป้องกันตนเอง จากการโจมตีของเชื้อโรคเหล่านี้อยู่ เรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบนี้โดยธรรมชาติเป็นระบบที่ซับซ้อน แข็งแกร่ง และมักจะจดจำรายละเอียดของ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เคยรบกันมาแล้วได้ดี กลไกที่มีชื่อเสียง และถูกนำมาใช้บ่อย คือ การสร้าง แอนติบอดี้ (Antibody) ร่างกายจะผลิตโปรตีนแอนติบอดี้ขึ้น เมื่อสำรวจพบว่ามีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย โดยแอนติบอดี้ที่จำเพาะจะมาจับกับเชื้อโรคเป้าหมาย เพื่อชี้เป้า ให้เม็ดเลือดขาวหรือทหารของร่างกาย มาทำลายเชื้อโรคให้หมดไปก่อนที่เชื้อโรคจะสร้างความเสียหายแก่ร่างกายเรา ร่างกายเราจะผลิตแอนติบอดี้ ได้เร็วและมาก หากร่างกายเราเคยรู้จักเชื้อโรคตัวนั้นมาก่อน ซึ่งการรู้จักกันมาก่อน สามารถเกิดได้จาก 2 วิธี คือ

  1. การติดเชื้อทางธรรมชาติแล้วร่างกายเรียนรู้จดจำด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้ป่วยซ้ำ
  2. จากการ รับวัคซีน วัคซีนจะทำหน้าที่ กระตุ้น หรือ เตือน ระบบภูมิคุ้มกัน ว่ากำลังมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ให้ร่างกายเริ่มผลิตแอนติบอดี้ ไว้รอ เมื่อเจอกับเชื้อโรคตัวจริงร่างกายจะได้สามารถสร้างแอนติบอดี้ได้อย่างรวดเร็ว และกำจัดเชื้อให้หมดไปก่อนที่เชื้อจะแบ่งตัวเป็นทวีคูณและก่อโรคแก่ร่างกายเรา

วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในปัจจุบัน

ต่างก็มุ่งหวังให้ร่างกายสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งทุก Platforms การพัฒนาและการผลิตวัคซีน เน้นนำ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของไวรัส เช่น โปรตีน หรือสารพันธุกรรม (mRNA) มาผลิต เพื่อให้ร่างกายเรารู้จักส่วนหนึ่งหรือหน้าตาของไวรัสตัวนี้ และสามารถสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 เพื่อเอาไว้ใช้ได้ แต่ไม่ได้นำไวรัสทั้งตัวมาผลิต ดังนั้นวัคซีนที่พัฒนาในปัจจุบันจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคโควิด-19 จากวัคซีนได้

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถหยุดการระบาดของโรคได้ ก็ต่อเมื่อ วัคซีนสามารถสร้างเสริมให้ประชากรส่วนใหญ่มี ภูมิคุ้มกัน ที่สามารถยับยั้งการก่อโรคโควิด-19 ได้ นั่นคือ วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ทั่วถึง และ ทันเวลา ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ติดเชื้อ ไม่เป็นพาหะ และ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ติดเชื้อ โอกาสที่เชื้อโควิดจะแพร่สู่คนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งก็ลดลง ทำให้ไม่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรายังอยู่ระหว่างการรอคอยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสม คือ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเพียงพอ แต่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ไม่ได้หยุดรอ พวกเราเลยค่ะ การป้องกันตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยตัวเองก่อนค่ะ โดยรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง, รักษาสุขอนามัย ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือ ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือเสมอ เมื่อสัมผัสสิ่งแวดล้อม สิ่งของต่าง ๆ , ไม่นำมือมา จับ หรือแคะ แกะ เกา ใบหน้า, สวมหน้ากากอนามัยเสมอ เมื่ออยู่ในที่ชุมชน เมื่อพบปะผู้คน และรักษาระยะห่างระหว่างกันค่ะ

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ