แคดเมียม (Cadmium) เป็นโลหะหนัก มีสีขาวฟ้ามันวาว มีเนื้ออ่อน ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การชุบสังกะสี การผลิตแบตเตอรี่อัลคาไลน์ การทำเม็ดสี แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ขับออกจากร่างกายได้ช้าจึงเกิดการสะสมของแคดเมียมในร่างกายได้เป็นเวลานานหลายปี ทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ หลายระบบ
อันตรายของแคดเมียมต่อร่างกายมีอะไรบ้าง ?
เมื่อได้รับแคดเมียมในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จะทำให้เกิดอาการต่างๆดังนี้
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก กระดูกเปราะ
- ไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปอดอักเสบ
- ไตอักเสบ ไตวาย นิ่วทางเดินปัสสาวะ
- โลหิตจาง
- ปวดศีรษะ เสียการรับกลิ่น
- เพิ่มโอกาสเป็นหมัน
- เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด
การที่สารแคดเมียมเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิด “โรคอิไตอิไต (Itai-itai disease)” ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูก กระดูกเปราะผิดรูปโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ฟันมีวงเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง โลหิตจาง ไตวาย จนอาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้
ภาวะพิษจากแคดเมียมรักษาอย่างไร ?
- การรักษาประคับประคอง – การรักษาตามอาการและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ไตวาย การหายใจล้มเหลว
- การรักษาจำเพาะ – ในกรณีที่เป็นพิษแบบเฉียบพลัน อาจพิจารณาให้สารทางหลอดเลือด เช่น แคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต (Calcium disodium edetate) เพื่อไปจับกับแคดเมียมออกจากร่างกาย อาจช่วยลดความรุนแรงของภาวะพิษจากแคดเมียมได้
เราสามารถป้องกันตัวเองจากแคดเมียมได้อย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารแคดเมียมโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีสารแคดเมียมเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงอาหารและน้ำที่มาจากพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม
- งดใช้ภาชนะที่มีแคดเมียมปนเปื้อน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หากจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณที่มีสารแคดเมียมในอากาศ ควรใส่หน้ากากป้องกันสารพิษ
#โรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรา
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ