รู้ทัน …โรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease)

2 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)  เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารบางอย่างที่ชื่อว่า “โดพามีน” ลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ทำให้มีอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจใช้ชีวิตลำบากได้

 

โรคพาร์กินสันมีทั้งหมด 5 ระยะ

ระยะที่ 1 : มีอาการเริ่มต้นคือ มีอาการสั่นเมื่อมีการหยุดพัก หรือไม่มีการเคลื่อนไหวอวัยวะ เช่นนิ้วมือ แขนเป็นต้น นอกจากนี้จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเเขน ขา และลำตัวร่วมด้วย

ระยะที่ 2 :  อาการจะเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอีกข้างหนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มหลังงอ เคลื่อนไหวช้า หรือเดินตัวโก่งไปข้างหน้า

ระยะที่ 3 : มีอาการทรงตัวผิดปกติ มีโอกาสหกล้มได้ง่าย เวลาลุกยืนจะลำบาก

ระยะที่ 4 : ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาการสั่นลดลง แต่มีอาการเเข็งเกร็งและเคลื่อนไหวช้ากว่าเดิม ในระยะนี้ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะผู้ป่วยอาจจะหกล้มได้ง่าย และไม่สามารถยืนได้

ระยะที่ 5 : กล้ามเนื้อเเข็งเกร็งมากขึ้นจนผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่ได้เลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มือเท้าหงิกงอ เสียงแผ่วเบา ไม่มีการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ทำให้ร่างกายซูบผอมลง ทรวงอกเคลื่อนไหวได้น้องลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ

 

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

สาเหตุที่ทำให้การผลิตสารโดพามีนลดลงนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าคืออะไร และยังไม่แน่ชัดว่ามีปัจจัยใดที่กระตุ้นการเกิดโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตามโรคพาร์กินสัน อาจเกิจจากสาเหตุอื่นก็ได้ซึ่งที่พบบ่อยๆในผู้สูงอายุ คือ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้เวียนศรีษะ แก้มึนงง ยาแก้อาเจียน ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากล่อมประสาท เป็นต้น นอกจากนั่นอาจเกิดจากความผิดปกติในสมองจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองขาดออกซิเจน สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว หรือเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศรีษะ เป็นต้น บางคนมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันซึ่งสามารถพบได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร้อยละ 10-15%

การรักษาโรคพาร์กินสัน

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดหรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคได้ ซึ่งวิธีการรักษาที่ใช้โดยทั่วไปมีดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการ โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบโดพามีน
  • การรักษาโดยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation) เป็นวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งเคยได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

SHARE