รู้ทันอาการปวด รู้แนวทางการรักษา

10 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย นพ.วรศิลป์  ดีสุรกุล โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

ปวดต้นคอ บ่า ไหล่

ปวดต้นคอเป็นอีกหนึ่งอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในโรคทางกระดูกและข้อ โดยมีหลายสาเหตุแตกต่างกันไป ส่วนมากเริ่มมีอาการในวัยทำงาน และเพิ่มขึ้นในอายุที่มากขึ้น (40-60 ปี) เรามาดูกันว่าสาเหตุต่างๆของการปวดต้นคอมีออะไรบ้าง และมีสิ่งที่ต้องพึงระวังอื่นหรือไม่

สาเหตุของการปวดต้นคอ

1.กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณคออักเสบ

          เป็นสาเหตุพบได้มากที่สุด ส่วนใหญ่จะเกิดจากท่าทางที่ผิดปกติเป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการล้า อาจพบว่ากล้ามเนือมีการหดเกร็ง มีจุดกดเจ็บ หรือมีการเคลื่อนไหวคอได้ลดลง การได้รับการรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดที่ถูกวิธีจะสามารถลดการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้

          สิ่งสำคัญคือ อาการปวดนี้อาจส่งผลมาจากโรคในอวัยวะใกล้เคียงที่ซ่อนอยู่ เช่น การอักเสบเรื้อรังที่ข้อไหล่ ข้อบริเวณกรามเสื่อม หรือข้อต่อบริเวณกระโหลกศรีษะ การวินิฉัยที่ถูกต้องโดยแพทย์ จะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม

2.ภาวะกระดูกคอเสื่อม

          เกิดจาก หมอนรองกระดูกคอเสื่อม ในบางรายมีข้อเล็กๆด้านหลังของกระดูกสันหลังที่เรียกว่าข้อฟาเซ็ท ( Facet ) เสื่อม ร่วมด้วย  อาการปวดจากหมอนรองกระดูกอาจมีการปวดทั่วๆคอทั้ง2ข้าง ตำแหน่งตั้งแต่ท้ายทอย ไล่ลงไปจนถึงสะบักได้ ขึ้นอยู่กับระดับของหมอนรองกระดูก ส่วนข้อฟาเซ็ทเสื่อม จะปวดบริเวณใกล้แกนกลางของคอมากกว่า

การวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งการตรวจพิเศษด้วยเครื่อง MRI สามารถเพิ่มความแม่นยำ และทำการรักษาได้ทันท่วงที

3.ปวดจากเส้นประสาทคอถูกกดทับ

          พบได้ทั้งอาการปวดคอร้าวลงไหล่-สะบัก บางรายปวดร้าวลงแขน-มือ ร่วมกับมีอาการชาหรือมืออ่อนแรง

การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถลดอาการและลดความเสี่ยงของการทุพพลภาพในอนาคตได้

4.ปวดคอจากกระดูกบางหรือกระดูกพรุน

          พบได้ในผู้ป่วยสูงอายุ หรือคนที่เคยมีประวัติผ่าตัดรังไข่ ภาวะกระดูกพรุนทำให้ปวดเรื้อรังได้ การตรวจมวลกระดูก (Bone marrow density = BMD) เมื่อมีความเสี่ยง การให้ยารักษากระดูกพรุนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหัวใจของการรักษา

5.ปวดคอจากภาวะร้ายแรงอื่นๆ

          อาการปวดคอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ร่วมกับมีไข้ หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากภาวะอันตรายที่อาจซ่อนอยู่มีได้ตั้งแต่ กระดูกสันหลังติดเชื้อ(แบคทีเรีย/วัณโรค) หรือ โรคมะเร็งกระดูก

นพ.วรศิลป์  ดีสุรกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE