อนุมูลอิสระ คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรสำหรับร่างกายเรา อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้อย่างไร สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วร่างกายเราสามารถสร้างเองได้หรือไม่? สารพฤกษเคมี คืออะไร ได้มาจากพืชประเภทใดบ้าง ตัวอย่างของสารพฤกษเคมี
Q1: อนุมูลอิสระ คืออะไร? เกี่ยวข้องอย่างไรสำหรับร่างกายเรา?
อนุมูลอิสระ หรือชื่อภาษาอังกฤษที่เราได้ยินบ่อย ๆ คือ Free Radicals เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมีการใช้ออกซิเจนในกระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อให้ได้พลังงาน และจะมีการสร้างอนุมูลอิสระ เป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร เพราะขาดอิเล็กตรอน ทำให้ต้องไปแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลของสารอื่น ๆ โมเลกุลที่โดนแย่งอิเล็กตรอนไปนั้นจะกลายเป็น อนุมูลอิสระ ที่แย่งชิงอิเล็กตรอนของโมเลกุลอื่น เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ไปเรื่อย ๆ อนุมูลอิสระที่มีมากเกินไป จะเข้าไปทำลายเซลล์ ทำให้เกิดความเสียหาย และนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด แก่ก่อนวัย ต้อกระจก และโรคอื่น ๆ
Q2: อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้อย่างไร?
อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายใน และภายนอกร่างกายของเรา
- อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากภายในร่างกาย (Internal free radical) ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการเผาผลาญภายในเซลล์และการสร้างพลังงานที่ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ ในเซลล์ เสมือนโรงงานผลิตพลังงานภายในเซลล์ของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเรารับประทานมาก หรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง ร่างกายต้องเกิดการเผาผลาญมากขึ้น ก็จะเกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น
- อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากภายนอกร่างกาย (External free radical) มาจากหลายเเหล่ง เช่น แดดร้อนจัด มลพิษ ฝุ่นควัน ควันบุหรี่ เชื้อโรคต่าง ๆ อาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน ปริมาณมาก ๆ อาหารประเภททอด ปิ้งย่าง ความเครียดทั้งจิตใจ และความเครียดทางร่างกาย เช่น อดนอน นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหนักเกินไป รวมถึงการอดอาหารมื้อเช้า ซึ่งเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง โดยในปัจจุบัน หลายคนละเลยมื้อเช้าจนเคยชิน ทำให้ร่างกายเครียดโดยไม่รู้ตัว
Q3: สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วร่างกายเราสามารถสร้างเองได้หรือไม่?
ปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์นั้นจะมีการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หรือได้รับจากเเหล่งอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เพื่อจัดการอนุมูลอิสระเหล่านี้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) สามารถปกป้องร่างกาย ด้วยการให้อิเล็กตรอนของตัวเองแก่อนุมูลอิสระ ทำให้อนุมูลอิสระไม่ต้องการอิเล็กตรอนจากเซลล์ของร่างกาย หยุดยั้งกระบวนการทำลายเซลล์จากอนุมูลอิสระ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่มีการรวมตัวกับออกซิเจน เป็นปฏิกิริยาเดียวกันกับที่ทำให้ตะปูเป็นสนิม เพราะออกซิเจนในอากาศทำปฏิกิริยากับเหล็ก หรือเเจกันทองเหลืองที่หมองลง หรือเนยที่เหม็นหืน เพราะออกซิเจนทำปฏิกิริยากับไขมัน เป็นต้น โดยจะแบ่งเป็น
- สารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นมา (Internal Antioxidants) จะมีเอนไซม์หลายชนิด รวมทั้งสารชีวเคมีต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็น Antioxidants เช่น เอนไซม์ Superoxide Dismutase (SOD), เอนไซม์ Catalase, เอนไซม์ Glutathione Peroxidase
- สารต้านอนุมูลอิสระภายนอกร่างกาย (External Antioxidants) จากเเหล่งอาหาร รวมถึงอาหารเสริมที่เรารู้จักกันดี อย่าง วิตามิน กลูตาไธโอน รวมถึงสารที่ได้จากพืช เรียกว่า สารพฤกษเคมี
Q4: สารพฤกษเคมี คืออะไร? ได้มาจากพืชประเภทใดบ้าง?
สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) คือ สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพบางอย่าง พบเฉพาะในพืช สารกลุ่มนี้อาจเป็นสารที่ทำให้พืชผัก ผลไม้ ธัญพืช มีสี กลิ่น หรือรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว มีกลไกการออกฤทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ต้านออกซิเดชัน ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สารพฤกษเคมีลดการเกิดโรคมะเร็งได้ เพิ่มภูมิต้านทานโรค และควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน
ตัวอย่างของสารพฤกษเคมี เช่น
- แคโรทีนอยด์ ได้จากผักที่มีสีสันสดใส เช่น ฟักทอง แครอท มะม่วง พีช มันเทศ และผักขม
- ไลโคปีน พบใน มะเขือเทศ แตงโม องุ่น และ ผลไม้อีกหลายชนิดมีสีแดง
- ลูทีน พบมากในผักขม กะหล่ำใบ และดอกดาวเรือง ช่วยจัดการกับอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ชะลอการเสื่อมของศูนย์กลางจอประสาทตา
- ซีอาแซนทิน เช่นเดียวกับ ลูทีน แคโรทีนอยด์ชนิดนี้ ช่วยปกป้องดวงตาจากโรคจอประสาทตาเสื่อม พบมากใน ผักขม และกระเจี๊ยบเขียว
- แอนโทไซยานิน เป็นรงควัตถุ ที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน พบใน สตรอเบอรี่ ผลหม่อน บลูเบอรี่ แครนเบอรี่ เชอรี่ ราสเบอรี่ กะหล่ำปลีสีม่วง เรดิชสีแดง ข้าวโพดสีม่วง มันเทศสีม่วง ดอกอัญชัน เป็นต้น
- คาเทชิน พบได้ ชาเขียว โกโก้ แอปเปิล
- เควอซิทิน พบมากใน หัวหอม หอมแดง และพืชตระกูลถั่ว
Q5: เราจะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายเรามีอนุมูลอิสระมาก หรือน้อย?
มีการตรวจหาอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยการตรวจเลือด
โดยสรุปแล้ว ถ้าเราลดอนุมูลอิสระทั้งภายใน ภายนอก รวมถึงได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่เพียงพอจะจัดการอนุมูลอิสระได้นั้น เป็นการชะลอความแก่ชรา ความเสื่อม โรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ในที่สุด
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ได้ที่ คลิก >>
ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา