เบาจืด (Diabetes Insipidus) คือ โรคที่เกิดจากร่างกายสูญเสียการควบคุมสมดุลของน้ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปธาลามัสจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อ เนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บบริเวณต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) มาควบคุมการปัสสาวะได้ตามปกติ ความผิดปกติของระบบการทำงานของไต ทำให้ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักโรคเบาหวาน แต่อาจมีคนเพียงส่วนน้อยที่รู้จักโรคเบาจืด วันนี้แอดมินจะมาเล่าให้ฟังนะคะว่าโรคเบาจืดเกิดจากอะไร และอาการอย่างไรบ้างที่ต้องสงสัยโรคเบาจืด
โรคเบาจืดเกิดจากอะไร ?
เบาจืด (Diabetes Insipidus) คือ โรคที่เกิดจากร่างกายสูญเสียการควบคุมสมดุลของน้ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปธาลามัสจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อ เนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บบริเวณต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) มาควบคุมการปัสสาวะได้ตามปกติ ความผิดปกติของระบบการทำงานของไต ทำให้ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
โรคเบาจืดอาการเป็นอย่างไร ?
- ปัสสาวะปริมาณมากและบ่อยผิดปกติ ผู้ป่วยโรคเบาจืดมักปัสสาวะมากกว่า 3 ลิตรต่อวัน บางรายอาจปัสสาวะมากกว่า 10 ลิตรต่อวัน และลักษณะปัสสาวะจะสีจางกว่าปกติ
- กระหายน้ำและดื่มน้ำมากผิดปกติ กระหายน้ำตลอดเวลาแม้ว่าจะดื่มน้ำไปในปริมาณมาก
- อ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง เนื่องจากการสูญเสียน้ำ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย
- ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด
โรคเบาจืดวินิจฉัยอย่างไร ?
หากมีอาการเบื้องต้นที่สงสัยโรคเบาจืด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะถามประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจปัสสาวะ การทดสอบทางฮอร์โมน การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองในกรณีสงสัยความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปธาลามัส
โรคเบาจืดรักษาอย่างไร ?
การรักษาโรคเบาจืดจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่เกิดโรค ในผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง การรักษาคือการรักษาเนื้องอกและการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทนฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกที่ไม่เพียงพอ ในผู้ป่วยที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด รักษาโดยการหยุดยานั้น