อาการเป็นอย่างไร…เมื่อขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ?

14 ก.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายทุกส่วนทำงานเชื่องช้า เนื่องจากขาดไทรอยด์ฮอร์โมนไปกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญพลังงานให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ



ไทรอยด์ฮอร์โมนมีบทบาทควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจและระบบประสาท อีกทั้งยังควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก

 

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายทุกส่วนทำงานเชื่องช้า เนื่องจากขาดไทรอยด์ฮอร์โมนไปกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญพลังงานให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ

 

สาเหตุของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยเช่น

  • การขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
  • ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดต่อมใต้สมอง
  • โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองของต่อมไทรอยด์
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • การฉายรังสีที่บริเวณคอ
  • การกลืนน้ำแร่เพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด

 

อาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

อาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีอาการฉับพลัน อาการที่พบได้บ่อยได้แก่

  • บวมที่ใบหน้า ลำตัว แขน ขา
  • ผมร่วง ขนคิ้วบาง ผิวหนังหยาบแห้ง เล็บเปราะแตกง่าย
  • กล้ามเนื้อลีบ เป็นตะคริวบ่อย ปวดข้อ
  • เสียงแหบ
  • ท้องผูก
  • เหงื่อออกน้อย ไม่ทนหนาว
  • หัวใจเต้นช้า
  • เหนื่อยง่าย เซื่องซึม ง่วงนอน
  • ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ
  • อาจมีต่อมไทรอยด์โตหรือคอพอก
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นหมัน
  • ในเด็กจะเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้า
  • ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ ในผู้ชายอาจมีนมตั้งเต้า

 

การวินิจฉัยและรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

  • วินิจฉัย โดยอาศัยประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด  และการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ
  • การรักษา คือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ ให้รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดสังเคราะห์ (Levothyroxine) ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายคนปกติ ผู้ป่วยต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ทุกวันและส่วนใหญ่ต้องรับประทานตลอดชีวิต การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ตลอดชีวิตไม่มีผลเสีย เพราะเป็นการชดเชยฮอร์โมนที่ปกติร่างกายต้องการ ผู้ป่วยเด็กควรรับประทานยาฮอร์โมนให้ครบถ้วนเพื่อให้สมองและร่างกายเติบโตและพัฒนาเป็นปกติ ภายหลังจากให้ยารักษาไปแล้วแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการและตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

SHARE