ภาวะความดันเลือดในปอดสูง คือ ภาวะที่หลอดเลือดในปอดมีความต้านทานเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันเฉลี่ยหลอดเลือดแดงปอด (Mean Pulmonary Arterial Pressure) มีค่าสูงกว่า 25 มิลลิเมตรปรอทในขณะพัก ส่งผลให้หัวใจห้องขวาต้องทำงานหนักขึ้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายทำได้น้อยลง ถือว่าเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ภาวะความดันเลือดในปอดสูง (Pulmonary Hypertension) คืออะไร ?
ภาวะความดันเลือดในปอดสูง คือ ภาวะที่หลอดเลือดในปอดมีความต้านทานเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันเฉลี่ยหลอดเลือดแดงปอด (Mean Pulmonary Arterial Pressure) มีค่าสูงกว่า 25 มิลลิเมตรปรอท ในขณะพัก ส่งผลให้หัวใจห้องขวาต้องทำงานหนักขึ้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายทำได้น้อยลง ถือว่าเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ภาวะความดันเลือดในปอดสูงเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของความดันเลือดในปอดสูงมีหลากหลาย ทั้งจากความผิดปกติในหลอดเลือดแดงปอด ความผิดปกติในเนื้อปอด ความผิดปกติของหัวใจห้องซ้าย ไปจนถึงภาวะความดันเลือดในปอดสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ
โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ
- โรคกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคลูปัส โรคหนังแข็ง โรครูมาตอยด์
- การทำงานของหัวใจห้องซ้ายผิดปกติ เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะที่มีการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลงจากสาเหตุต่างๆ
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอดเรื้อรัง
อาการของภาวะความดันเลือดในปอดสูงเป็นอย่างไร ?
อาการที่พบได้บ่อยในคนที่มีภาวะความดันเลือดในปอดสูง ได้แก่
- อาการเหนื่อยง่ายขณะออกแรง เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด
- อ่อนเพลีย
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- หน้ามืด เป็นลมหมดสติ
- ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
- ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง
- ขาบวม เท้าบวม
- ปลายมือปลายเท้าเขียว
การตรวจวินิจฉัยภาวะความดันเลือดในปอดสูงวินิจฉัยได้อย่างไร ?
นอกจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว การวินิจฉัยภาวะความดันเลือดในปอดสูงยังอาศัยการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น
- ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)
- การตรวจเลือดเพื่อหาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การตรวจหาแอนติบอดี้ต่อภูมิคุ้มกันตนเอง
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
- การตรวจสวนหัวใจห้องขวา (Right heart catheterization)
- การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test)
- การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography)
- การตรวจความสัมพันธ์ระหว่างการหายใจกับเลือดที่ไปเลี้ยงที่ปอด (Ventilation Perfusion Lung Scan)
- การตรวจหลอดเลือดปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Angiography of Chest)
- การตรวจสมรรถภาพปอดและหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (cardiopulmonary exercise testing : CPET)
ภาวะความดันเลือดในปอดสูงรักษาอย่างไร ?
การรักษาภาวะความดันเลือดในปอดสูง ทำได้โดยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการใช้ยา เพื่อลดความดันในหลอดเลือดแดงปอด และการรักษาประคับประคอง เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำเกินจากหัวใจล้มเหลว โดยการรักษาภาวะนี้ต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เนื่องจากเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงและหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและปอด
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)