นอกจากการเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่บ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยในระยะต้นอาจไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้น การตรวจสุขภาพ และ คัดกรองในผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี หรืออายุมากกว่า 45 ปี และ มีประวัติญาติสายตรงมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจเลือดดูค่า PSA และ การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นประจำทุก 1-2 ปี เพราะการตรวจวินิจฉัยได้เร็วมีผลต่อการรักษาและการพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชาย โดยเฉพาะชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น และเนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ มักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยได้ช้า เมื่อเป็นมะเร็งในระยะที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเริ่มมีอาการ หรือ มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปอวัยวะอื่นๆ แล้ว ส่งผลให้อาจไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ การเฝ้าระวังอาการผิดปกติรวมถึงการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ชายทุกคน เพราะหากสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะยิ่งทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น
อาการเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะไม่ออก
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- รู้สึกปวดเวลาเบ่งปัสสาวะ หรือเวลาหลั่งน้ำอสุจิ
- มีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
- ในผู้ป่วยระยะท้ายๆ ที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปอวัยวะอื่น เช่น กระดูก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตามกระดูก ปวดหลังหรือสะโพก น้ำหนักลด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย
- แพทย์จะทำการตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination) เพื่อตรวจคลำรูปร่าง ขนาดและความแข็งของต่อมลูกหมาก
- การเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง ที่ใช้บ่อยที่สุดคือ PSA (Prostate specific antigen) โดยสารนี้จะสูงขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตามสารนี้อาจสูงขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ
- ตรวจต่อมลูกหมากด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านทางทวารหนัก (Transrectal ultrasound of the prostate) เป็นการตรวจโดยใส่เครื่องมือเข้าไปทางทวารหนักและใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจสอบความผิดปกติของต่อมลูกหมาก
- การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) และนำเอาเนื้อเยื่อไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
- ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูระยะของโรคว่ามีการกระจายของมะเร็งไปนอกต่อมลูกหมากหรือไม่ เช่น การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และตรวจกระดูกด้วย bone scan
การรักษา
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายวิธี การเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นกับระยะของโรคและสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีการรักษาได้แก่
- การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก
- การฉายรังสีรักษา
- การรับประทานยายับยั้งฮอร์โมนเพศชาย
- การผ่าตัดลูกอัณฑะ
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
นอกจากการเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่บ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยในระยะต้นอาจไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้น การตรวจสุขภาพ และ คัดกรองในผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี หรืออายุมากกว่า 45 ปี และ มีประวัติญาติสายตรงมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจเลือดดูค่า PSA และ การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นประจำทุก 1-2 ปี เพราะการตรวจวินิจฉัยได้เร็วมีผลต่อการรักษาและการพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น