“ปอดอักเสบ” เป็นการอักเสบของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจลดลง เกิดความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลม ในเด็กบางคนอาการอาจรุนแรงจนพิการและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
ทำความรู้จักโรค “ปอดอักเสบ”
โดยปกติแล้วโรคปอดอักเสบนั้นพบได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ แต่สำหรับในเด็กนั้นนับได้ว่าเป็นโรคร้ายลำดับต้นๆ ตามสถิติแล้วปอดอักเสบจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นั่นเป็นเพราะเมื่อเด็กมีไข้หวัดจะเกิดอาการแทรกซ้อนลามไปถึงปอด จนถึงขั้นปอดอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากทางเดินหายใจที่เล็กและแคบ ทำให้กำจัดเสมหะได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเชื้อที่ได้รับ ภูมิต้านทาน รวมทั้งการดูแลเบื้องต้น ล้วนมีผลต่อการเกิดโรคปอดอักเสบทั้งสิ้น
ปอดอักเสบเกิดจากอะไร ?
เกิดจาการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ติดต่อกันโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไป การไอ จามรดกัน การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดอักเสบ รวมถึงการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักจะเกิดกับผู้พิการ เด็ก ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
อาการแบบไหน สงสัยปอดอักเสบ
- มีไข้ ไอ มีเสมหะ
- หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- ชายโครง หรือหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการซึม ไม่ดูดนม หรือชักจากมีไข้สูง
ป้องกันโรคปอดอักเสบได้อย่างไร
ป้องกันโรคดังกล่าวได้ โดย การหลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆ
ที่สำคัญ คือ เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) ไอกรน รวมถึงวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัสหรือฮิบ วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
โรคปอดอักเสบในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อย ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้ หากสงสัยว่าลูกน้อยเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ควรพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที