โรครูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีการอักเสบของข้อ และเยื่อบุข้ออย่างรุนแรงและเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีการลุกลามจนกระดูกและข้อถูกทำลายจนเกิดข้อพิการผิดรูปตามมา
ใครที่เสี่ยงเป็นโรครูมาตอยด์ ?
สาเหตุของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย
- พบได้ในทุกช่วงวัย แต่พบได้บ่อยในวัยกลางคน
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ประวัติพันธุกรรม
อาการของโรครูมาตอยด์เป็นอย่างไร ?
- ข้ออักเสบเรื้อรังต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์
- ข้อที่อักเสบมีอาการปวด บวม แดง ร้อน อาการปวดเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน
- ข้อฝืดแข็งหลังตื่นนอนตอนเช้า
- ข้อที่มีอาการได้บ่อย คือ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ถ้าอาการรุนแรง อาจมีอาการบริเวณข้ออื่น ๆ เช่น ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อสะโพก
- อาจมีอาการในระบบอื่น ๆ เช่น ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปุ่มรูมาตอยด์ที่ผิวหนัง ปากแห้ง ตาแห้ง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
โรครูมาตอยด์รักษาอย่างไร ?
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงมีเป้าหมายเพื่อให้โรคสงบ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็วตั้งแต่เบื้องต้น การรักษามักจะได้ผลดี ลดโอกาสเกิดข้อพิการผิดรูปในอนาคตได้ วิธีการรักษาต่าง ๆ มีดังนี้
- การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดและอักเสบฉับพลันของข้อ ยาต้านรูมาติสซัมที่ลดการอักเสบ ชะลอการลุกลามและป้องกันการทำลายข้อในระยะยาว ยาต้านสารไซโตไคน์ที่ช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการทำลายข้อ
- การทำกายภาพบำบัด และการบริหารร่างกาย เพื่อคงความยืดหยุ่นของข้อ การใช้ข้ออย่างถูกวิธี และไม่ใช้งานข้อหนักเกินไป
- การผ่าตัด เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดลอกเยื่อบุข้อ