บาดเจ็บข้อไหล่จากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ รักษาที่ต้นเหตุอย่างตรงจุด หยุดอาการปวด

1 พ.ย. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดข้อหนึ่งในร่างกาย สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่เล่นกีฬาที่ต้องใช้หัวไหล่ ข้อไหล่เป็นประจำอย่างกีฬาเทนนิส แบดมินตัน เบสบอล หรือแม้กระทั่งโปโลน้ำ คงหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ ข้อไหล่ไม่ได้ เพราะต้องใช้แรงจากข้อไหล่มาก อาจให้ข้อไหล่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสัญญาณเตือนที่สำคัญคือ 1.มีอาการปวดไหล่ 2.ขยับข้อไหล่ได้ไม่สุด เช่น ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด เอื้อมมือไปได้หลังไม่ได้ ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หรือปวดไหล่อย่างรุนแรง แสดงว่าเกิดปัญหาข้อไหล่ ควรรีบปรึกษาแพทย์ด้านกระดูกและข้อ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

อาการบาดเจ็บข้อไหล่

โดยทั่วไปแล้วกลไกการบาดเจ็บของข้อไหล่สามารถแบ่งได้เป็น 3ลักษณะ ได้แก่

  1. การบาดเจ็บเฉียบพลันจากแรงกระแทกภายนอก เช่น ถูกกระแทก ล้มกระแทก ซึ่งอาจทำให้ฟกช้ำ เส้นเอ็นอักเสบฉีกขาด ข้อไหล่เคลื่อนหลุด ข้อปลายไหปลาร้าเคลื่อนหลุด กระดูกบริเวณหัวไหล่หัก
  2. การบาดเจ็บเฉียบพลันจากแรงกระแทกภายใน เช่น กล้ามเนื้อกระตุก (Pulled Muscle) เล่นกีฬาในท่าที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้แรงจากข้อไหล่ในการเขวี้ยง โยน หมุน อย่างกีฬาเทนนิส แบดมินตัน เบสบอล หรือแม้กระทั่งโปโลน้ำ
  3. การบาดเจ็บเรื้อรังจากการบาดเจ็บซ้ำๆ

ซึ่งระดับของอาการบาดเจ็บจะเริ่มตั้งแต่

  • ปวดบริเวณไหล่ มีอาการเจ็บปวดเมื่อขยับ แต่ยังสามารถขยับออกท่าทางเคลื่อนไหวได้บ้าง
  • ปวดไหล่ ไม่สามารถขยับหรือยกแขนได้ตามปกติ โดยมักจะปวดไหล่มากเวลานอนตะแคงทับ ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด เอื้อมมือไปได้หลังไม่ได้ ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หากเป็นหนักจะยกแขนไม่ขึ้น รู้สึกชาและกำลังแขนอ่อนแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฝ่อตัว หรือในกรณีที่รุนแรง
  • เจ็บปวดมาก อาจถึงขั้นไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้เลยทีเดียว ซึ่งควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การตรวจวินิจฉัย ประเมินการบาดเจ็บของข้อไหล่

การประเมินการบาดเจ็บของข้อไหล่ แพทย์จะเริ่มจาก 1.การซักประวัติการบาดเจ็บของข้อไหล่อย่างละเอียดตั้งแต่การบาดเจ็บในอดีต กลไกการบาดเจ็บ ลักษณะการเจ็บปวด การเคลื่อนไหวที่ทำไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงของอาการในระยะเวลาที่ผ่านมา อาจรวมถึงการรักษาที่ได้รับมาแล้ว 2.การตรวจร่างกาย ซึ่งอาจมีการคลำบริเวณข้อไหล่ เพื่อดูส่วนนูนของกระดูกข้อ และคลำส่วนที่เป็นเอ็นและกล้ามเนื้อ 3.อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือที่จำเป็น เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด นำไปสู่การรักษาอย่างถูกจุด

การรักษาบาดเจ็บข้อไหล่

การรักษาขึ้นอยู่กับ การวินิจฉัย ว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่จุดใด หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นเพียงแค่การอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่ และยังสามารถขยับออกท่าทางเคลื่อนไหวได้บ้าง ก็จะรักษาด้วยการให้พักใช้งานข้อไหล่และแขน ร่วมกับการรับประทานยาลดการอักเสบ การประคบร้อนหรือประคบเย็น ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เจ็บปวดมาก กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้ หรือเกิดจากภาวะเอ็นข้อไหล่ฉีดขาด อาจจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเย็บ ซ่อมแซ่มเส้นเอ็นข้อไหล่ หากต้องการกลับมาใช้ไหล่ได้ปกติดังเดิม

การผ่าตัดส่องกล้องรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด

การรักษาเส้นเอ็นข้อไหล่ ทำได้โดยการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ จะเปิดแผลขนาดเล็กแล้วใช้กล้องขนาด 4 มิลลิเมตร ส่องเข้าไปดูภายในข้อหัวไหล่ตรงรอยโรค ซึ่งภาพที่ได้จะถูกส่งขึ้นจอภาพที่อยู่ในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นส่วนต่างๆ ในข้อไหล่ได้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งมาช่วยเสริมในการจับและเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาด โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีเป็นรูเล็กๆ ขนาด 0.5 -1 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีรอยโรคมากน้อยเพียงใด

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ คือ แผลผ่าตัดยังมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวไหล่ อาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นสั้น แผลเล็กมาก เกิดรอยแผลเป็นน้อย และมีโอกาสในการติดเชื้อที่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยัง สามารถบันทึกรายละเอียดการผ่าตัดเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยจึงสามารถเก็บข้อมูลการรักษาเหล่านี้ไว้เป็นประโยชน์ในการรักษาได้ในภายหลัง

การป้องกันการบาดเจ็บของข้อไหล่

การเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะเล่นกีฬาที่ต้องใช้หัวไหล่หรือกีฬาที่ใช้แรงปะทะ มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันการบาดเจ็บเป็นอย่างมาก ซึ่งควรเริ่มจากการวอร์มร่างกายให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเหมาะต่อการเล่นกีฬาและกล้ามเนื้อยืดอยู่ในความยาวที่เหมาะสม หลังจากนั้นควรฝึกกล้ามเนื้อไหล่ ฝึกการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางของการเคลื่อนไหว รวมถึงต้องฝึกเทคนิคต่างๆ ในการใช้ไหล่ปะทะขณะเล่นฟีฬา ฝึกการล้มเพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อไหล่ ฝึกการเก็บข้อไหล่ การม้วนตัวและหลีกเลี่ยงการล้มในท่ากางแขนยันพื้น เนื่องจากเป็นท่าที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยครั้ง

หากท่านที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บข้อไหล่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาโดยเร็ว ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องสามารถช่วยรักษาที่ต้นเหตุ ที่ช่วยให้ไม่ต้องทนกับอาการเจ็บปวด และสามารถกลับไปเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดังเดิม

 

แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/2Y55sqE
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/3e45kxi
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/31h3Ege
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/2AEj0k1
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ https://bit.ly/3hXuTT2
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/39nE7o7
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3i1nWAM

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ

โปรแกรมศูนย์กระดูกและข้อ
แพ็กเกจตรวจคัดกรอง MRI ข้อเข่า P.2
ราคา
12,000 ฿
โปรแกรมศูนย์กระดูกและข้อ
แพ็กเกจผ่าตัดก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ 1 ข้าง
ราคา
13,500 ฿
โปรแกรมศูนย์กระดูกและข้อ
แพ็กเกจโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
ราคา
12,500 ฿