นิ่วในถุงน้ำดี...อย่าคิดว่าไม่น่ากลัว!!
นิ่วในถุงน้ำดี…อย่าคิดว่าไม่น่ากลัว!!
นิ่วในถุงน้ำดี หนึ่งในโรคระบบทางเดินอาหารที่มีอันตรายถึงชีวิต หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็น หรือจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการที่เริ่มรุนแรงแล้ว เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีในบางรายอาจไม่แสดงอาการหรือมีสัญญาณเตือนใดๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวล่วงหน้า ทำให้พอรู้ตัวอีกทีก็พบว่านิ่วในถุงน้ำดีเริ่มลุกลามหรือมีการอักเสบที่รุนแรงแล้ว
จึงอยากมาให้ความรู้เกี่ยวกับ นิ่วในถุงน้ำดี เพื่อที่เราจะได้รู้เท่าทันโรคนี้มากยิ่งขึ้น
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกายอย่างคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี รวมถึงการติดเชื้อบริเวณถุงน้ำดี ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนผลึกในถุงน้ำดี ซึ่งการตกผลึกนี่เองที่เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยก้อนนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีสามารถมีขนาดได้ตั้งแต่ก้อนเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงก้อนเท่าลูกกอล์ฟ และจำนวนของก้อนนิ่วในถุงน้ำดีก็มีได้ตั้งแต่ก้อนเดียวไปจนถึงหลักพันก้อน
ใครบ้างเสี่ยงเป็น…นิ่วในถุงน้ำดีบ้าง
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ส่งผลให้คอเลสเตอรอลเกิดความไม่สมดุลในน้ำดี และการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
- ผู้ที่ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดเสียสมดุลของคอเลสเตอรอล
- ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน
- ผู้ที่ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์บ่อย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
สัญญาณเตือนหรืออาการของ “นิ่วในถุงน้ำดี”
โรคนิ่วในถุงน้ำดี มักจะไม่มีอาการแสดงที่แน่ชัด หากไม่เกิดการอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดการติดเชื้อใดๆ ในถุงน้ำดี แต่เราสามารถสังเกตสัญญาณเตือนที่สามารถบ่งบอกถึงอาการของนิ่วในถุงน้ำดีได้ ดังนี้
- มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง หรือรู้สึกอาหารไม่ย่อย
- รู้สึกปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หรือบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
- รู้สึกปวดร้าวบริเวณกระดูกสะบัก หรือบริเวณหัวไหล่ และหลังด้านขวา
- มีอาการอาเจียน หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย
อาการเหล่านี้อาจแสดงหลายๆ อย่างร่วมกัน แต่อาจไม่แสดงครบทุกอาการ ซึ่งอาการดังที่กล่าวมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารมันๆ หรือช่วงเวลากลางคืน และมักเกิดขึ้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาการจะหายไป มีการทิ้งระยะไปสักพักแล้วจึงกลับมาเป็นอีก
ลดความเสี่ยง…แค่เปลี่ยนพฤติกรรม
- ควบคุมอาหาร โดยการเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน และอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ รวมถึงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากการทานอาหารที่มีไขมันอยู่มากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้
- ควบคุมน้ำหนัก โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อรักษาระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด
- ไม่ควรใช้วิธีการลดน้ำหนักด้วยวิธีการอดอาหาร หรือวิธีที่ทำให้น้ำหนักลดเร็วเกินไป แต่ควรที่จะใช้วิธีการคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกาย
- ควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติในร่างกาย หากตรวจพบได้ไวก็สามารถที่จะรักษาและป้องกันภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
- ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากพบควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติให้แน่ชัด
ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี หากไม่มีอาการปวดมักพบโดยบังเอิญจากการมาตรวจร่างกายโดยการอัลตร้าซาวด์ แต่ถ้าหากมีอาการปวดหรืออักเสบมาก่อน เมื่อมาพบแพทย์ก็จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที