ผื่นลมพิษคืออะไร ?
ผื่นลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นปื้นนูน แดง ไม่มีขุย ขนาดไม่แน่นอน มีอาการคัน สามารถเกิดที่บริเวณผิวหนังส่วนใดของร่างกายก็ได้ ผื่นมักเกิดขึ้นทันทีทันใด และจางหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากจางหายไปมักจะไม่เหลือร่องรอยใด ๆ ไว้ แต่อาจจะมีผื่นใหม่ขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ได้อีก ถ้าอาการของผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ จัดเป็นลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) แต่ถ้าอาการผื่นลมพิษเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์ จัดเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria)
ผื่นลมพิษมีสาเหตุจากอะไร ?
- อาหาร เช่น อาหารทะเล ถั่วบางชนิด สารกันบูด สีผสมอาหาร
- การแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด
- การแพ้พิษแมลง เช่น มด ผึ้ง ต่อ
- การแพ้สารที่สัมผัส เช่น การแพ้ยางลาเทกซ์ ขนสัตว์
- การติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษได้
- โรคของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
- อิทธิพลทางกายภาพ ปฏิกิริยาตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น การกดรัด แสงแดด การออกกำลังกาย
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง
- ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยลมพิษจำนวนมากไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้
การรักษาผื่นลมพิษทำอย่างไร ?
- หาสาเหตุและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ
- การใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ยาต้านฮีสตามีนมีหลายกลุ่ม ทั้งที่ออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางราย แพทย์ต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากและผื่นไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างและหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ
ผู้ป่วยลมพิษชนิดเฉียบพลันที่หาสาเหตุและแก้ไขได้ หลังรับประทานยาต้านฮีสตามีน ผื่นลมพิษมักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่พบสาเหตุหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ โรคมักเป็นเรื้อรัง
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นผื่นลมพิษ ?
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษ
- พกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ เมื่อมีอาการสามารถใช้ได้ทันที
- ไม่เกาบริเวณผื่น เพื่อไม่ให้ผิวหนังอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อน
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง สังเกตผลข้างเคียงจากยา และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมีอาการ
- หากมีอาการผื่นลมพิษรุนแรง ร่วมกับมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง หน้าบวม ตาบวม ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด