ไขข้อเท็จจริง 5 ความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าไม่เป็นโรคหัวใจ
1. ออกกำลังกายเป็นประจำ แล้วไม่เป็นโรคหัวใจ?
จริงอยู่ที่ว่า การออกกำลังกายจะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ เพราะจะช่วยให้หัวใจแข็งแรง เลือดสูบฉีดได้ดี แต่ไม่ได้ปลอดภัยจากการเป็นโรคหัวใจ ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนเสียชีวิตในขณะที่ออกกำลังกาย ซึ่งเกิดจากการออกกำลังกายนั้นจะไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนัก หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โอกาสเสียชีวิตจากการเป็นโรคหัวใจขณะออกกำลังกายก็มากขึ้น
2. ตรวจเลือดแล้วไขมันไม่สูง ไม่เป็นโรคหัวใจแน่นอน?
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่จำเป็นต้องมีไขมันในเลือดสูงทุกรายถึงจะเป็นโรคได้ โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ผนังหลอดเลือดหัวใจหด ตีบ ตัน แคลเซียมหรือหินปูนเกาะผนังหลอดเลือด รวมทั้งไขมันในเลือดสูง แต่การที่มีไขมันในหลอดเลืดสูง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนทั่วไปเท่านั้นเอง
3. ตรวจคลื่นหัวใจ EKG แล้วปกติ แสดงว่าหัวใจปกติ?
การตรวจคลื่นหัวใจด้วย EKG เป็นการตรวจดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะปกติ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้วได้ทำการตรวจด้วย EKG จะพบว่าร้อยละ 70 ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
4. เลิกสูบบุหรี่ หัวใจจะเป็นเหมือนคนปกติ?
กลุ่มผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 เท่า แต่หากผู้สูบบุหรี่นั้นเป็นความดันเลือดสูงและไขมันในเลือด จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่าของคนทั่วไป
5. ไม่เคยเจ็บหน้าอก แสดงว่าไม่เป็นโรคหัวใจ?
อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการบ่งชี้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้ว สำหรับคนที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่กล้ามเนื้อหัวใจยังไม่ขาดเลือด ก็อาจจะยังไม่แสดงอาการให้เห็นได้ ฉะนั้นแล้ว อย่ารอให้มีอาการ เพราะหากมีอาการหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเมื่อไหร่ ก็จะทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้สูงเช่นกัน ในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น แม้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดมาเลี้ยงไม่พอ ก็อาจจะไม่มีอาการ เพราะเส้นประสาทเสื่อมจนไม่มีอาการออกมาให้เห็น
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) ให้ผลแม่นยำขึ้น ในการคาดคะเนว่าน่าจะมีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
ข้อแนะนำ
ถึงแม้ว่าตอนนี้เรายังแข็งแรงดี ออกกำลังกายเป็นประจำ ไขมันไม่สูงเกินมาตรฐาน ไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอก หรือหยุดสูบบุหรี่มานาน รวมทั้งคนที่ป่วยเป็นเบาหวาน ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป และต้องตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจหาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยการวิ่งสายพาน Exercise Stress Test : EST คืออะไร
การตรวจหาโรคหัวใจขาดเลือด โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีวิ่งบนสายพาน เป็นการทดสอบว่าในขณะที่อออกำลังกายแล้วเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่
หากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ซึ่งแพทย์จะทราบได้จากการเปลี่ยนแปลงคลื่นของหัวใจในขณะเดินสายพาน ลักษณะแบบนี้ในภาวะปกติเราจะมองไม่เห็นจากการตรวจกราฟหัวใจด้วย EKG ธรรมดา หรือบางรายก็ไม่มีอาการ ทั้ง ๆ ที่มีลักษณะของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งคนที่ไม่รู้ตัวมักคิดว่าตัวเองแข็งแรงดี พอมีอาการของโรคหัวใจกำเริบก็สายเกินไปแล้ว ดังนั้นควรตรวจหัวใจทุก 1-2 ปี สำหรับในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง
โรงพยาบาลสินแพทย์ พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจของท่านก่อนที่จะสายเกินไป
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ ศูนยหัวใจ สาขาใกล้บ้านคุณ