ความดันโลหิตสูง…ทำไมต้องรักษา

25 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่แรงดันในหลอดเลือดแดงสูง หากไม่ได้รับการรักษา หรือปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวจะทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะหลายระบบในร่างกาย

 

การแปลผลค่าความดันโลหิต

ค่าความดันโลหิตมี 2 ค่า คือ

  • ค่าตัวบน เป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบเลือดออกไปสู่ระบบไหลเวียนของโลหิต
  • ค่าตัวล่าง เป็นค่าความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจคลายตัว

 

เมื่อไหร่จะบอกว่าเป็นความดันโลหิตสูง

ค่าตัวบน เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท

ค่าตัวล่าง เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท

 

หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท ในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  1. หลอดเลือดแดงแข็งตัว และตีบตันในอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น
  • หลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีอาการเจ็บหน้าอก และหัวใจวายได้
  • หลอดเลือดแดงในสมองตีบตัน ทำให้สมองขาดเลือด เนื้อสมองตาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก เลือดออกในสมอง ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
  • หลอดเลือดแดงที่ไตตีบ ทำให้ไตเสื่อม และไตวายได้
  • หลอดเลือดแดงในตาแข็งและตีบ อาจมีเลือดออกที่จอภาพ และประสาทตา ทำให้ตามัวหรือตาบอดได้
  • หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงแขนขาตีบตัน ทำให้มือเท้าขาดเลือดเป็นแผลเรื้อรัง หายยาก
  • หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอก และช่องท้องโป่งพอง และแตกทำให้เสียชีวิตได้ทันที
  1. หัวใจโต ทำให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจอ่อนแรง เกิดภาวะน้ำท่วมปอด และเหนื่อยง่าย

 

ทำไม?  ความดันโลหิตสูงต้องรักษา

ความดันโลหิต ที่ถูกละเลยเป็นเวลานาน จนเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคหัวใจ และอัมพาตทำให้พิการ หรือ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

ความดันโลหิตสูง มีสาเหตุจากอะไร?

ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ (กว่า 90%) ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์อีกส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารและสิ่งแวดล้อม พวกนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมได้โดยการรับประทานยาเป็นประจำ

 

มีคนไข้อีก ราว 5% ที่มีความดันโลหิตสูงเนื่องจากโรคอื่น เช่น เนื้องอกของต่อมหมวกไต ซึ่งถ้าผ่าตัดออกความดันโลหิตก็จะกลับเป็นปกติและหายขาดได้ จะเห็นว่าโรคความดันโลหิต ส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัวไม่หายขาดจึงจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องหันภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิต

 

ความดันโลหิตสูง รักษาอย่างไร

การรักษาขั้นแรกเลย คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ได้แก่

  • ควบคุมอาหาร และน้ำหนักตัว อย่าให้อ้วน โดยการลดอาหารประเภทไขมัน ได้แก่ อาหารที่ใช้เนย ไขมัน และน้ำมันในการปรุง
  • ลดอาหารเค็ม เช่น ของดองเค็ม ซุปกระป๋อง อาหารที่โรยเกลือ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที จะช่วยลดน้ำหนักและทำให้การไหลเวียนดีป้องกันโรคหลอดเลือดได้ ที่สำคัญผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก่อนเริ่มออกกำลังกายครั้งแรกควรปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เครียด
  • งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต
  • รับประทานยาให้สม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

 

จะเห็นได้ว่าภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหากับระบบหลอดเลือดทั่วร่างกาย การพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและการตรวจสภาพหลอดเลือดส่วนปลายด้วยเครื่อง ABI และการตรวจสภาพหลอดเลือดหัวใจด้วยเทคโนโลยีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ 64 สไลซ์ (CT-64 Slices) จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก และหาทางป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

 

ความดันโลหิตสูง รับประทานยาอะไรดี

ปัจจุบันมียาควบคุมความดันโลหิตสูงออกมามากมายหลายชนิด คนไข้แต่ละคนตอบสนองต่อยาชนิดต่างๆ ไม่เหมือนกัน หากมียาชนิดใดที่รับประทานแล้วทำให้รู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน บางคนรับประทานยาแค่ครึ่งเม็ดความดันก็ลดลงเป็นปกติได้ดี บางคนต้องรับประทานหลายชนิด จึงควบคุมความดันได้

 

ทำอย่างไร จึงจะทราบว่า ความดันดีแล้ว

ต้องวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ การมาพบแพทย์วัดความดัน 2-3 เดือน ต่อครั้งก็ไม่เพียงพอ ควรเรียนรู้วิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตระบบดิจิตอลวัดความระดับความดันเองที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องวัดถี่เกินความจำเป็นและควรจดบันทึกเวลา ค่าที่วัดได้ทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของท่านในการควบคุมความดันโลหิต อาการปวดหัวเป็นตัววัดว่าความดันลดลงดีแล้ว

SHARE