เกิดอะไร..เมื่อควบคุมเบาหวานไม่ได้

15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์

"เบาหวาน" เป็นภาวะของโรคที่เกิดจากน้ำตาลในกระแสเลือดมีปริมาณสูงกว่าปกติ โดยร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ กินจุแต่น้ำหนักลด เพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า ถ้าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นปกติได้ จะเกิดการทำลายหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายอย่างช้า ๆ ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตา ไต หัวใจ เท้า นอกจากนี้ยังทำให้ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม ซึ่งมีผลที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้



ตา

มีการเสื่อมของจอตา เนื่องจากเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน ทำให้ตาบอด เกิดต้อกระจก

 

ไต

มีการเสื่อมของหน่วยไต มีการรั่วของโปรตีนออกมาในปัสสาวะ ทำให้โปรตีนในเลือดต่ำ ไตขับถ่ายของเสียได้ไม่ดี เป็นสาเหตุของไตวาย

 

หัวใจ

ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวาย

 

เท้า

เนื่องจากในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน มักจะมีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมกับการไหลเวียนของเลือดไปที่เท้าลดลง ทำให้อาการชา เป็นแผลโดยไม่รู้สึกตัว และหายยาก มีโอกาสถูกตัดขาได้ง่าย ผู้เป็นเบาหวานจึงควรดูแลเท้าเป็นพิเศษ

 

หัวใจและหลอดเลือด

น้ำตาลในเลือดสูงทำให้การปล่อยออกซิเจนลำบาก ร่างกายขาดออกซิเจน มีการอุดตันของหลอดเลือดฝอย การโป่งพองของผนังหลอดเลือด ผนังหลอดเลือดแข็ง ทำให้ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมองตีบ

 

ระบบประสาท

ทำให้มีการเสื่อมของระบบประสาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ระบบประสาทส่วนปลาย : มีผลทำให้ชาตามอวัยวะ เช่น ชาปลายเท้า นิ้วเท้า มีอาการเจ็บแปลบเหมือนเข็มตำ
  • ระบบประสาทอัตโนมัติ : มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน การบีบรัดตัวของทางเดินอาหารช้าลง มีผลต่อการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ออก มีปัสสาวะตกค้าง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หรือทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

 

แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นเบาหวาน

  1. พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อตรวจระดับน้ำตาล และปรับยา และเพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนแต่เนิ่น ๆ
  2. ควบคุมอาหาร
  3. ออกกำลังกาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี เกิดความสมดุลของพลังงานที่ได้รับและใช้ไป
  4. ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
  5. ดูแลเท้าให้ถูกวิธี
  6. ควรรับการตรวจติดตามการดำเนินของโรคและภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานทุกปี

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการ ศูนย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

SHARE