ข้อเข่าเสื่อม

20 ก.ค. 2566 | เขียนโดย นพ.ณพัชร ณ ตะกั่วทุ่ง แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

มีรายงานพบว่าทุก 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เข่าของคุณต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม



โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดเมื่อตัวรองรับแรงตามธรรมชาติอย่างกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว กระดูกของข้อเข่าจะเกิดการเสียดสีกันโดยที่ไม่มีกระดูกอ่อนมารองรับแรง การเสียดสีนี้เองที่ทำให้เกิดอาการปวด บวม ข้อติดขัด เหยียดงอได้น้อยลง หรือเกิดกระดูกงอกขึ้นมา

 

สาเหตุ

โรคข้อเสื่อม เกิดเมื่อกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รับแรงกระแทกของกระดูก 2 ชิ้น และทำให้การเคลื่อนไหวมีแรงเสียดทานที่ต่ำ ค่อย ๆ สลายเสื่อมสภาพ ร่วมกับการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อกระดูกอ่อนสลายจนหมด กระดูกจะต้องสีกันเอง และเกิดการสึกหรอของกระดูกตามมา ผิวของกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบก็จะทำให้มีเสียงดังเวลาขยับข้อเข่า เมื่อเป็นมากขึ้นทำให้เริ่มมีอาการเข่าโก่ง หากปวดและเดินได้น้อยลง กล้ามเนื้อรอบเข่าจะมีขนาดเล็กลงไปอีก ทำให้เหยียดงอ เข่าได้น้อยลง

 

โดยทั่วไป โรคข้อเข่าเสื่อมมักหมายถึงการสลายของกระดูกอ่อน แต่แท้ที่จริงแล้วนอกเหนือจากนี้ การเสื่อมนี้ยังรวมไปถึงกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่บนกระดูกนั้น ๆ ด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อข้อเข่ามากขึ้น จะมีการสร้างน้ำข้อเข่ามากขึ้น ทำให้มีการบวมตึง

 

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ : เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด ความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากกระดูกอ่อนจะมีความสามารถในการฟื้นฟูที่ลดลงตามวัย โดยทั่วไปโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมจะมากขึ้นหลังจากอายุ 45 ปี โดยจากสถิติที่อายุ 60 ปี จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  • เพศ : เพศหญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย ซึ่งรายงานว่าอาจจะเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนที่ไม่เท่ากัน
  • ความอ้วน : น้ำหนักที่เยอะจะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงมากขึ้น มีรายงานพบว่าทุก 1 กิโลกรัม ที่เพิ่มขึ้นทำให้เข่าของคุณรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม นอกจากนี้ ชั้นไขมันยังหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบออกมาทำลายข้อเข่าได้อีกด้วย
  • การใช้งาน : ในบางอาชีพหรือกีฬาบางชนิดที่ต้องใช้แรงส่งผ่านข้อเข่ามาก ทำให้เกิดความเครียดต่อกระดูกอ่อน ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ คุกเข่า นั่งยอง ๆ ยกของหนัก (มากกว่า 25 กิโลกรัม)
  • พันธุกรรม :ยีนบางตัวที่ส่งผลให้เกิดข้อเสื่อมมากขึ้น สาเหตุอาจเนี่องจากยีนบางยีนมีผลต่อรูปร่างของกระดูกรอบข้อเข่า ซึ่งจะพบในการเสื่อมของข้อนิ้วมือมากกว่าข้อเข่า
  • การบาดเจ็บของข้อ : เมื่อมีการบาดเจ็บของข้อเข่า จะมีการอักเสบ และทำให้กระดูกอ่อนสลายมากขึ้น รวมถึงเมื่อเส้นเอ็นของข้อเข่าขาดที่ทำให้ข้อเข่าหลวม ส่งผลให้มีการบาดเจ็บที่เรื้อรังต่อไปได้
  • ความผิดปกติของกระดูก : การผิดรูป หรือโครงสร้างของกระดูกผิดไป ทำให้แนวแรงที่มาลงผิดปกติ
  • โรคทางเมตาบอลิก : การมีสารที่ผิดปกติไปทำให้กระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมสลายได้ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเหล็กเกิน, โรคฮอร์โมนการเจริญเติบโตเกิน, โรครูมาตอยด์

 

อาการ

โรคข้อเข่าเสื่อม มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการที่พบ ได้แก่

  • ปวด : เป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุด มักจะมีอาการปวดขณะหรือภายหลังการขยับเคลื่อนที่ โดยเฉพาะการเดินขึ้นลงบันได นั่งยอง ๆ อาการปวดจะดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อพัก โดยทั่วไปอาการจะเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน
  • ฝืด : มักเป็นมากตอนตื่นนอน หรือไม่ขยับเป็นเวลานาน แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากขยับ
  • กดเจ็บ : มักกดเจ็บบริเวณข้อต่อของเข่าด้านในหรือด้านนอก
  • สูญเสียความยืดหยุ่น : จะมีอาการเหยียดงอเข่าได้ไม่สุดเหมือนแต่ก่อน ทำให้มีปัญหาเวลาลุกนั่ง หรือขึ้นลงบันได
  • มีเสียงในข้อเข่า : อาจจะมีเสียงกรอบแกรบเวลาใช้งานข้อเข่า เนื่องจากเวลาข้อสึกจะมีการเสียดสีกับเยื่อบุข้อและเส้นเอ็นที่หนาตัวขึ้น
  • กระดูกงอก : อาจคลำพบก้อนนูนแข็งรอบ ๆ ข้อ
  • ผิดรูป : เมื่อกระดูกเสื่อมมากขึ้น ทำให้มีการผิดรูปของข้อเข่า อาจจะโก่งด้านนอกหรือด้านในก็ได้ ทำให้ขาสั้นลง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • บวม อุ่น : มีสาเหตุมาจากการอักเสบของข้อ

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะเริ่มจากการรวบรวมประวัติ การตรวจร่างกาย รวมถึงประวัติข้ออักเสบในครอบครัว โดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  • Xrays :จะบ่งบอกลักษณะกระดูก และกระดูกอ่อนที่สึกหรอได้ รวมถึงปุ่มกระดูกที่งอกเพิ่มขึ้นมา
  • MRI: จะตรวจเมื่อ X-rays ไม่สามารถบอกสาเหตุของการเจ็บข้อเข่าได้ชัดเจน
  • เจาะเลือด : เพื่อหาสาเหตุของข้ออักเสบนอกเหนือจากข้อเสื่อม เช่น รูมาตอยด์, ข้ออักเสบอื่น ๆ ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน

 

การรักษา

เป้าหมายของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมคือ ลดอาการปวดและกลับไปเหยียดงอเข่าได้ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

 

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

  • ลดน้ำหนัก : เนื่องจากเป็นการลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่าโดยตรง การลดน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อย (5%) สามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง : ไม่ควรยืนหรือนั่งท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน, ไม่ควรทำกิจกรรมที่งอเข่ามากกว่า 90 องศา เป็นเวลานาน
  • ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบเข่า ทำให้ข้อเข่ามั่นคงและลดอาการปวดได้ ส่วนการออกกำลังกายแบบยืดเหยียด ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นแก่ข้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรออกกำลังตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการออกกำลังกายในผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันไปตามปัจจัยที่ต้องคำนึง เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค เป็นต้น
  • การใช้ผ้ารัดเข่า : ควรใช้โดยการควบคุมของแพทย์ เนื่องจากการใช้เป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการที่ไม่ได้ถูกใช้งานได้
  • การใช้ไม้เท้า : จะช่วยลดแรงที่กระทำต่อเข่า และทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • การรักษาทางเลือก : มีบางรายงานที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการรักษาทางเลือก ได้แก่ การใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของแคปไซซิน, การฝังเข็ม, การทำอัลตราซาวน์, การใช้เลเซอร์รักษา เป็นต้น

การรักษาแบบใช้ยา

  • ยาชะลอการเสื่อมของข้อ : สามารถชะลอการสลายของกระดูกอ่อนได้ แต่ฤทธิ์ลดการอักเสบยังไม่แน่ชัด
  • ยาแก้ปวด : ลดอาการปวดโดยที่ไม่ได้ลดอาการอักเสบ
  • ยาแก้อักเสบ : มีหลายกลุ่ม แต่ไม่ควรซื้อยาทานเอง และไม่ควรทานยาเกิน 10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ หากอาการไม่มาก แนะนำให้ใช้ชนิดทาภายนอก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากยาชนิดรับประทาน เช่น พิษต่อไต, พิษต่อระบบหัวใจ, ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  • ยาฉีดเข้าข้อ : มีหลายกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารลดการอักเสบ, กรดไฮยารูลอนิค ที่เป็นสารหล่อลื่นข้อ เป็นต้น

 

การผ่าตัด

  • การส่องกล้อง : เป็นการใช้กล้องและอุปกรณ์ขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อเข่า โดยเจาะรูแผลเป็นทางเข้า หลังจากนั้น แพทย์จะนำกระดูกอ่อนที่สึกหรอ หรือเศษวัตถุที่หลุดลอยออกไป จากนั้นทำความสะอาดผิวกระดูก และซ่อมแซมส่วนของเนื้อเยื่อที่เสียหาย โดยทั่วไปการผ่าตัดประเภทนี้มักทำในคนที่อายุน้อย (<55 ปี) เพื่อที่จะรักษาข้อธรรมชาติไว้ หรือชะลอการผ่าตัดที่รุนแรงกว่า
  • การเปลี่ยนแนวกระดูก : มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแนวของข้อเข่า โดยผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของกระดูก ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้ แนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย ต้องการใช้งานข้อเข่าค่อนข้างมาก และข้อเข่าเสื่อมเพียงหนึ่งฝั่ง
  • การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม : เป็นการนำส่วนของกระดูกที่เสียหายออก และแทนที่ด้วยส่วนเทียมที่มาจากเหล็ก และพลาสติก การเปลี่ยนสามารถทำเพียง 1 ฝั่งของเข่า หรือทั้งเข่าเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายของข้อเข่าที่พบขณะผ่าตัด โดยทั่วไปจะใช้วิธีนี้ในคนไข้ที่อายุมากกว่า 50 ปี

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการศูนย์กระดูกและข้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ

โปรแกรมศูนย์กระดูกและข้อ
แพ็กเกจฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า P.1
ราคา
26,000 ฿
แพ็กเกจผ่าตัดและผ่าตัดส่องกล้อง
แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 1 ข้าง (TKA)
ราคา
219,000 ฿