สำหรับผู้ที่มีอาการปวด บวม เจ็บบริเวณเข่าควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ การวินิจฉัยจะเริ่มจากการรวบรวมประวัติ การตรวจร่างกาย รวมถึงประวัติข้ออักเสบในครอบครัวโดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่
- X-rays ซึ่งจะบ่งบอกลักษณะกระดูก และกระดูกอ่อนที่สึกหรอได้ รวมถึงปุ่มกระดูกที่งอกเพิ่มขึ้นมา
- MRI จะส่งเมื่อ X-rays ไม่สามารถบอกสาเหตุของการเจ็บข้อเข่าได้ชัดเจน
- เจาะเลือด เพื่อหาสาเหตุของข้ออักเสบนอกเหนือจากข้อเสื่อม เช่น รูมาตอยด์ ข้ออักเสบอื่น ๆ ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน
การรักษา
เป้าหมายของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม คือ ลดอาการปวดและกลับไปเหยียดงอเข่าได้ ซึ่งแนวทางการรักษามี 3 แนวทางหลัก ๆ คือ
การรักษาแบบไม่ใช้ยา
- ลดน้ำหนัก : เนื่องจากเป็นการลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่าโดยตรง การลดน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อย (5%) สามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง : ไม่ควรยืนหรือนั่งทำใดท่าหนึ่ง เป็นเวลานาน ไม่ควรทำกิจกรรมที่งอเข่ามากกว่า 90 องศาเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเสริมสร้างความเเข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบเข่า ทำให้ข้อเข่ามั่นคงและลดอาการปวดได้ ส่วนการออกกำลังกายแบบยืดเหยียด ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นแก่ข้อได้ แต่อย่างไรก็ตามควรออกกำลังตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการออกกำลังกายในผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันไปตามปัจจัยที่ต้องคำนึง เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค เป็นต้น
- การใช้ผ้ารัดเข่า : ควรใช้โดยการควบคุมของแพทย์ เนื่องจากการใช้เป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการที่ไม่ได้ถูกใช้งานได้ดีขึ้น
- การรักษาทางเลือก : มีบางรายงานที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการรักษาทางเลือก ได้แก่ การใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของแคปไซซิน การฝังเข็ม การทำอัลตราซาวน์ การใช้เลเซอร์รักษา เป็นต้น
การรักษาแบบใช้ยา
- ยาชะลอการเสื่อมของข้อ : เป็นยาที่สามารถชะลอการสลายของกระดูกอ่อนได้ แต่ฤทธิ์ลดการอักเสบยังไม่แน่ชัด
- ยาแก้ปวด : เป็นยาที่ลดอาการปวดโดยที่ไม่ได้ลดอาการอักเสบ
- ยาแก้อักเสบ : มีหลายกลุ่ม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเองและไม่ควรทานยาเกิน 10 วัน ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ หากอาการไม่มากแนะนำให้ใช้ชนิดทาภายนอก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากยาชนิดรับประทาน เช่น พิษต่อไต พิษต่อระบบหัวใจ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- ยาฉีดเข้าข้อ : มีหลายกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารลดการอักเสบ กรดไฮยารูลอนิค ที่เป็นสารหล่อลื่นข้อ เป็นต้น
การผ่าตัด
- การส่องกล้อง : เป็นการใช้กล้องและอุปกรณ์ขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อเข่า โดยเจาะรูแผลเป็นทางเข้า หลังจากนั้นแพทย์จะนำกระดูกอ่อนที่สึกหรอ เศษวัตถุที่หลุดลอยออกไป จากนั้นทำความสะอาดผิวกระดูกและซ่อมแซมส่วนของเนื้อเยื่อที่เสียหาย โดยทั่วไปการผ่าตัดประเภทนี้ มักทำให้คนที่อายุน้อย (<55 ปี) เพื่อที่จะรักษาข้อธรรมชาติไว้หรือชะลอการผ่าตัดที่รุนแรงกว่า
- การเปลี่ยนแนวกระดูก : มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแนวข้อเข่า โดยการผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของกระดูก ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้ แนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย ต้องการใช้งานข้อเข่าค่อนข้างมาก และข้อเข่าเสื่อมเพียงหนึ่งฝั่ง
- การเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม : เป็นการนำส่วนของกระดูกที่เสียหายออกและแทนที่ด้วยส่วนเทียมที่ทำมาจากเหล็กและพลาสติก การเปลี่ยนสามารถทำเพียง 1 ฝั่งของเข่า หรือทั้งเข่าเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสื่อมหายข้อเข่าที่พบขณะผ่าตัด โดยทั่วไปจะใช้วิธีนี้ในคนไข้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการศูนย์แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี