Work from home อย่างไร…ไม่ให้นิ้วล็อค ?

24 เม.ย. 2563 | เขียนโดย พญ.ทิพรัตน์ รังสรรค์ปัญญา โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

Work from home อย่างไร…ไม่ให้นิ้วล็อค ?



ในปัจจุบัน…..การทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือซ้ำๆต่อเนื่องเป็นเวลานาน การใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งในช่วงนี้ที่มีการระบาดของ Covid-19 ทำให้มีการสื่อสารหรือการทำงานที่บ้านผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ส่งผลให้นิ้วล็อคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยขึ้น วันนี้เราจึงอยากมาแนะนำวิธีการง่ายๆในการป้องกันการเกิดปัญหานิ้วล็อคค่ะ

 

นิ้วล็อค (Trigger finger) เป็นอาการที่ข้อนิ้วมืองอแล้วเหยียดไม่ได้ เกิดการติดล็อค  ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการอักเสบและหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่โคนนิ้วทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ จากนั้นจะมีอาการปวดมากขึ้นและเริ่มมีอาการสะดุดของข้อนิ้วเวลาเหยียดหรืองอ ต่อมาก็จะมีอาการติดล็อค เมื่องอนิ้วไปแล้วจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ โดยมักเกิดอาการกับมือข้างที่ใช้งานบ่อย แต่ก็อาจเป็นที่มือทั้ง 2 ข้างได้ อาการมักจะเป็นมากตอนช่วงเช้า

 

วิธีป้องกันการเป็นนิ้วล็อค

  1. ไม่หิ้วหรือถือของหนักเกินไป ลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
  2. พักการใช้นิ้วมือเป็นระยะๆ ขณะทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือเป็นเวลานานๆ
  3. ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือเป็นพักๆ
  4. เมื่อต้องใช้มือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น การขุดดิน การใช้ค้อน การตีกอล์ฟ ควรใช้ถุงมือหรือผ้านุ่มๆพันรอบๆ เพื่อลดแรงกดกระแทกต่อนิ้วมือ
  5. การแช่มือในน้ำอุ่นในช่วงเช้าๆ จะทำให้ข้อฝืดลดลง เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

 

การรักษาอาการนิ้วล็อค

วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้ามีอาการไม่มาก แพทย์อาจใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรืออาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ ถ้ามีอาการมาก การรักษาข้างต้นไม่ได้ผลและมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

 

ถ้าผู้ใดเริ่มมีปัญหานิ้วล็อค สามารถมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ เพื่อการดูแลรักษาอย่างถูกต้องที่โรงพยาบาลสินแพทย์ได้นะคะ

SHARE