“โรคต้อกระจก” เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะว่าโรคต้อกระจกนั้นมักพบในผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
ซึ่งโรคนี้เกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาหรือแก้วตา
และต้อกระจกนั้นถือว่าเป็นอันตรายทั้งในผู้สูงอายุและวัยอื่น ๆ ที่ควรกันไว้ดีกว่าแก้ ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคต้อกระจก สาเหตุการเกิด รวมถึงอาการของต้อกระจกให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัว และป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ทันตั้งตัว
ต้อกระจก คืออะไร?
“ต้อกระจก” หรือ Cataract คือ ภาวะที่เลนส์ภายในลูกตาขุ่น ส่งผลให้เกิดอาการตามัว และมีการมองเห็นไม่ปกติ เช่น มองเห็นภาพเบลอ สีเพี้ยน หรือคล้ายกับหมอกบังตาตลอดเวลา โดยต้อกระจกนั้นมักพบในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจเกิดได้กับตาทั้ง 2 ข้าง หรือข้างเดียวก็ได้
ชนิดของต้อกระจก
ชนิดของต้อกระจกนั้นสามารถใช้เกณฑ์ในการแบ่งได้หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้เกณฑ์ในการแบ่งชนิดของต้อกระจกด้วยช่วงอายุ ดังนี้
ต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital Cataract)
ต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital Cataract) คือ ชนิดของต้อกระจกที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ได้รับรังสีขณะตั้งครรภ์ คุณแม่รับประทานยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ หรือคุณแม่มีภาวะขาดสารอาหารขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น สามารถพบได้ในทารกแรกเกิด โดยในบางรายจะมีแก้วตาขุ่นเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่ในบางรายอาจมีแก้วตาขุ่นมากจนส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้
ต้อกระจกในวัยเด็ก และวัยรุ่น (Juvenile Cataract)
ต้อกระจกในวัยเด็ก และวัยรุ่น (Juvenile Cataract) คือ ชนิดของต้อกระจกที่พบได้ในทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยอาการ และสาเหตุของต้อกระจกในวัยเด็ก และวัยรุ่นนั้นเกิดจาก
- โรคที่เกิดจากความผิดปกติในพันธุกรรม (Genetic Disorders)
- โรคพันธุกรรมเมตาบอลิค (Metabolic Disorders)
- อุบัติเหตุทางตา (Trauma)
- ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis)
ต้อกระจกในวัยชรา (Senile Cataract)
ต้อกระจกในวัยชรา (Senile Cataract) คือ ชนิดของต้อกระจกที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย และมักจะมีแก้วตาขุ่นที่ลูกตาทั้ง 2 ข้าง
สาเหตุการเกิดต้อกระจก
ถึงแม้ว่าโรคต้อกระจกนั้นมักจะพบในผู้สูงอายุ เพราะเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย แต่ว่าต้อกระจกนั้นก็สามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยสาเหตุของการเกิดต้อกระจก มีดังนี้
แสง UV
แสง UV หรือรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ และมองข้ามไป โดยแสง UV นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ UVA และ UVB ถ้าหากแก้วตาได้รับ UVA ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้ และถ้าหากกระจกตา หรือเยื่อบุตาได้รับ UVB ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดต้อกระจก ต้อเนื้อ หรือต้อลมได้เช่นกัน
สูบบุหรี่ หรือ ยาสูบ
การสูบบุหรี่ หรือสูบยาสูบ เป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจก โดยเกิดจากสารพิษในควันบุหรี่ที่เข้าร่างกายทางเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลูกตา ดังนั้น การรับสารพิษจากควันบุหรี่เป็นประจำในระยะเวลานาน จะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง แถมยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม และอาการตาแห้งได้อีกด้วย
อุบัติเหตุที่ดวงตา หรือ ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน
ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือว่าดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน จะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นต้อกระจกมากกว่าปกติ เพราะว่าดวงตาที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือได้กระทบกระเทือนนั้นอาจมีการชอกช้ำ หรือฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในลูกตา เช่น จอตาช้ำ จอตาฉีกขาด หรือเลนส์ตาเคลื่อน จึงทำให้ลูกตานั้นมีความสามารถในมองเห็นลดลง และเพิ่มความเสี่ยงการเป็นต้อกระจกได้ง่ายมากขึ้น
การรักษาด้วยยาบางชนิด
การรักษาทางการแพทย์ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจก โดยเกิดได้จากการรับประทานยาเป็นประจำ หรือได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน รวมถึงการได้รับการฉายรังสีบริเวณส่วนบนของร่างกาย หรือส่วนศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการรักษาทางการแพทย์เหล่านี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกได้มากขึ้น
โรคทางกายที่สัมพันธ์กับภาวะต้อกระจก
นอกจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจกได้แล้ว ยังมีโรคทางกายที่สัมพันธ์กับภาวะต้อกระจก หรือเรียกว่าโรคประจำตัวที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกได้มากขึ้น โดยโรคทางกายดังกล่าวมีทั้งหมด ดังนี้
- โรคเบาหวาน : โรคที่เกิดจากความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งโรคเบาหวานที่ส่งผลกับดวงตานั้น รู้จักกันในอีกชื่อเรียกว่า เบาหวานขึ้นตา
- โรคกาแล็กโทซีเมีย : โรคที่เกิดจากร่างกายขาดเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนน้ำตาลกาแล็กโทสเป็นน้ำตาลกลูโคส ทำให้น้ำตาลกาแล็กโทสในเลือดสูงกว่าปกติ
- โรควิลสัน : โรคที่เกิดจากระบบทำงานของตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงส่วนเกินออกไปได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุทองแดงเป็นจำนวนมาก หรือเรียกว่า “ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย”
โรคทางตาที่สัมพันธ์กับภาวะต้อกระจก
โรคทางตาที่สัมพันธ์กับภาวะต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนร่วมกับโรคภายในระบบตาอื่น ๆ อย่างเช่น โรคม่านตาอักเสบ ลูกตาติดเชื้อ หรือเคยผ่าตัดดวงตามาก่อน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโรคและอาการทางสายตาที่ส่งผลให้เกิดภาวะต้อกระจกได้ง่ายขึ้นทั้งสิ้น
ระยะอาการของผู้ป่วยต้อกระจก
อาการของต้อกระจกนั้นเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงอายุ โดยระยะอาการของต้อกระจกในแต่ละระยะจะไม่เหมือนกัน ซึ่งแบ่งระยะอาการของผู้ป่วยต้อกระจกได้ทั้งหมด ดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่แก้วตาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ความสามารถมองเห็นน้อยลง ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เห็นแสงสะท้อนไฟจนรบกวนการมองเห็น และทำให้ดวงตาเมื่อยล้าง่ายมากขึ้น
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ต้อกระจกมีความขุ่นไม่มาก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มความขุ่นจากตรงกลางแก้วตาขึ้นมาทีละเล็กน้อย พร้อมกับกระจายออกไปในบริเวณรอบแก้วตา โดยจักษุแพทย์มักจะแนะนำผู้ป่วยในระยะนี้ให้ใช้แว่นสายตาที่มาพร้อมกับคุณสมบัติตัดแสงสะท้อน เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ต้อกระจกมีความขุ่นสูง โดยความขุ่นนั้นจะกระจายไปทั่วทั้งแก้วตา ซึ่งเป็นระยะที่ตามัวลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด และเป็นระยะที่จักษุแพทย์แนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจก
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ต้อกระจกขุ่นและสายตามัวกว่าระยะที่ 3 เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ต้อกระจกในระยะนี้ยังเป็นอันตราย ควรเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าหากทิ้งไว้อาจทำให้ผ่าตัดได้ยากขึ้น และอาจก่อให้เกิดต้อหินตามมาในภายหลังได้
ระยะของต้อกระจก
ระยะของต้อกระจกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะ Incipient, ระยะ Intumescent, ระยะ Mature และระยะ Hypermature โดยแต่ละระยะของต้อกระจกนั้นมีรายละเอียด ดังนี้
- ระยะ Incipient เป็นระยะแรกเริ่มที่สายตาเริ่มมีความขุ่นมัวขึ้น โดยแบ่งลักษณะการเกิดความขุ่นของแก้วตาในระยะนี้ได้ 2 แบบ ได้แก่ 1. รอบแก้วตาเกิดความขุ่น แต่กลางแก้วตายังใสเป็นปกติ และ 2. รอบแก้วตาใสเป็นปกติ แต่กลางแก้วตาขุ่น ซึ่งผู้ป่วยในระยะนี้อาจจะไม่รู้สึกว่าสายตามีความขุ่นมัว หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนกว่าต้อกระจกจะมีความขุ่นเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าสายตาของตัวเองนั้นมัวลงอย่างเห็นได้ชัด
- ระยะ Intumescent เป็นระยะที่เลนส์ตาเริ่มมีอาการบวม เพราะดูดซึมน้ำเข้าไป จึงทำให้แก้วตาโค้งเพิ่มมากขึ้น และอาจดันม่านตาไปข้างหน้า ส่งผลให้ช่องม่านตาตื้นขึ้น
- ระยะ Mature เป็นระยะที่แก้วตาเกิดความขุ่นขึ้นที่เส้นใยของแก้วตาทุกเส้น ทำให้มองเห็นแก้วตาเป็นสีขาวขุ่นทั้งอัน ซึ่งในระยะ Mature นั้นจักษุแพทย์ หรือผู้ตรวจจะไม่สามารถมองเห็นแสงสะท้อนจากจอประสาทตา (Red Reflex) ได้ เพราะว่าแสงไม่สามารถผ่านความขุ่นที่เกิดขึ้นทุกเส้นใยของแก้วตาได้
- ระยะ Hypermature เป็นระยะที่ต้อกระจกสุกมากจนเส้นใยแก้วตาที่เคยมีความขุ่นนั้นสลาย และกลายเป็นของเหลว ถ้าหากเส้นใยนั้นสลายเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้นิวเคลียสของแก้วตาเคลื่อนที่ไปมาภายในแคปซูลของแก้วตาได้
ต้อกระจกสามารถรักษาได้หรือไม่?
ต้อกระจกนั้นรักษาได้ด้วยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยต้อกระจกจะเข้ารับการรักษาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลยพินิจของจักษุแพทย์ โดยวิธีการรักษาทั้ง 2 แบบนั้นมีรายละเอียด และความแตกต่างกัน ดังนี้
รักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นการรักษาด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ หรือสวมใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงสะท้อน โดยวิธีเหล่านี้ช่วยชะลออาการได้ชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งผู้ป่วยควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนเลือกใช้ยาหยอดตา เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
รักษาแบบผ่าตัด
การผ่าตัดต้อกระจก หรือ Cataract Surgery คือ วิธีการรักษาต้อกระจกแบบผ่าตัดด้วยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่นออก และนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ เพราะว่าเป็นระดับที่ต้อกระจกส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในอนาคตได้
-
ประเภทของการผ่าตัด
ประเภทของการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายประเภทเป็นอย่างมาก แต่ประเภทของการผ่าตัดที่นิยมใช้มีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
-
-
ผ่าตัดลอกต้อกระจก (ICCE: Intracapsular Cataract Extraction)
-
การผ่าตัดลอกต้อกระจก เป็นวิธีการผ่าตัดนำเลนส์ตา และถุงหุ้มเลนส์ออกทั้งหมด พร้อมกับลอกแก้วตาทั้งแคปซูล และเนื้อในแก้วตาออกด้วยการใช้ Freezing Probe ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นได้ เนื่องจากการวางเลนส์นั้นทำได้ยาก นอกจากนี้แผลจากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีขนาดใหญ่ และใช้เวลาในการฟื้นตัวพอสมควร
-
-
การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ (ECCE: Extracapsular Extraction)
-
การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ เป็นวิธีการผ่าตัดนำเอาแก้วตาออก และเหลือแต่เปลือกหุ้มแก้วตาด้านหลังไว้ โดยวิธีการผ่าตัดแบบแผลใหญ่นั้น ต้องเย็บแผลปิดหลายเข็ม ทำให้เกิดสายตาเอียงจากไหมเย็บดึงกระจกตาใช้เวลาพักฟื้นนาน และอาจเกิดพังผืดบริเวณส่วนบนตาขาว
-
-
การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification)
-
การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้คลื่นเสียง หรืออัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูงเข้าไปสลายเนื้อแก้วตา และดูดแก้วตาที่สลายออกมา แล้วจึงนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ โดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ส่งผลให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก โอกาสสายตาเอียงหลังจากผ่าตัดมีน้อย และใช้เวลาพักฟื้นเร็วขึ้น แต่การผ่าตัดนี้ต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความชำนาญสูง และอาจมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าวิธีอื่น ๆ
-
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
ในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจกนั้น จักษุแพทย์จะตรวจความดันตาและประสาทตาอย่างละเอียด พร้อมกับตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในระหว่างการผ่าตัด หรือหลังการผ่าตัด และเพื่อให้การผ่าตัดนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก่อนการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการต้อกระจกควรเตรียมตัว ดังนี้
-
- สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวนั้น หากมียาที่ทานเป็นประจำ ผู้ป่วยทานยาได้เป็นปกติจนถึงวันผ่าตัด ยกเว้นว่ายาที่ทานคือยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยที่รับประทานยาชนิดนี้ ควรงด 7 วันก่อนการผ่าตัด
- งดรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 12 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการให้ยาสลบก่อนการผ่าตัด
- งดแต่งหน้า พร้อมกับทำความสะอาดดวงตา และรอบดวงตาให้เรียบร้อย แต่สามารถล้างหน้าก่อนนอน และเช้าวันผ่าตัดได้
- ดูแลความสะอาดร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น สระผม ตัดเล็บ โกนหนวด แปรงฟัน ทำความสะอาดปาก หรือการอาบน้ำ เป็นต้น
-
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก
หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่าหลังจากผ่าตัดต้อกระจกต้องพักฟื้นกี่วัน หรือหลังผ่าตัดแล้ว สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกนั้นใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่อาจจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจกแบบง่าย ๆ มีดังนี้
-
- หยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเช็ดทำความสะอาดตา และหยอดตา
- เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา และใบหน้าให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่แผลผ่าตัด
- ผู้ป่วยห้ามขยี้ตา เพราะอาจทำให้แผลเกิดการฉีกขาด หรือเลือดออกได้
- ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาในขณะที่อาบน้ำ หรือสระผม
- หลีกเลี่ยงการไอ หรือจามแรง ๆ และไม่ก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว
วิธีป้องกันต้อกระจก
สำหรับวิธีป้องกันการเกิดต้อกระจกนั้นยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงอายุ แต่ว่าวิธีที่สามารถชะลอการเกิดต้อกระจกได้นั้น มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่แว่นกันแดด หรือหมวก เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน และควรพักสายตาเป็นระยะ
- ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามิน A C และ E เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ และมะละกอสุก เป็นต้น
โรคต้อกระจก เป็นโรคที่มักเกิดผู้ป่วยที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
เพราะว่าต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย แต่ก็เกิดขึ้นกับวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากทางพันธุกรรม หรือมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจก โดยอาการหลักของต้อกระจก คือ ความสามารถในการมองเห็นลดลง หรือตามัว ซึ่งวิธีการักษาที่ได้ผลดีที่สุด คือ การผ่าตัดต้อกระจก และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดต้อกระจกได้ แต่สามารถชะลอการเกิดได้ด้วยการดูแลสุขภาพ และปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมกับตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อยับยั้งปัจจัยที่อาจส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก และลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุยังน้อยได้