มะเร็งเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง ที่เกิดจากการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เป็นก้อนเนื้อที่ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง และกระจายไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ ด้วยอวัยวะและสรีระของผู้หญิง จึงมีมะเร็งบางชนิดที่พบในผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้น
การหมั่นตรวจสุขภาพ และคัดกรองเป็นประจำเมื่อถึงเวลา สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง
บทความนี้ได้รวบรวม มะเร็งที่พบในผู้หญิงมาให้ศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ พร้อมอาการ และแนวทางการรักษา
1. มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม จนไม่สามารถควบคุมได้ และลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงส่วนอื่น ๆ มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง และเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิต เพราะในช่วงระยะแรก ๆ มักไม่มีสัญญาณหรืออาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น ทำให้การรักษาล่าช้าและอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมยังสามารถพบได้ในเพศชายด้วย แต่มีอัตราการเกิดที่น้อยมาก หรือเพียง 1% เท่านั้น
ระยะของมะเร็งเต้านม
ระยะของมะเร็งเป็นตัวบ่งบอกการลุกลาม และความรุนแรงของโรค เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งระยะของโรคมะเร็งเต้านม สามารถแบ่งได้ด้วยกัน 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. และเชื้อยังไม่กระจายไปยังจุดอื่น ๆ
ระยะที่ 2 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณ 2-5 ซม. และมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะใกล้เคียงอย่างรักแร้
ระยะที่ 4 สำหรับระยะที่ 4 ก้อนเนื้อจะมีหลายขนาด แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรง โดยมีจุดร่วม คือ เชื้อเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง
อาการเบื้องต้น
ในช่วงระยะแรก ๆ อาการมะเร็งเต้านมนั้นมักจะไม่ค่อยแสดงออกมาให้ได้รับรู้ หากไม่ได้รับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ก็อาจจะไม่ทราบว่าเป็นโรคมะเร็ง โดยอาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าร่างกายเกิดความผิดปกติมีดังนี้
- คลำเจอก้อนที่ใต้ราวนมหรือบริเวณใต้รักแร้
- เจ็บบริเวณเต้านม แม้จะอยู่ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- มีของเหลว น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนม
- มีผื่นคันที่เต้านม รอยแดง ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- เต้านมมีลักษณะที่เปลี่ยนไป
- เมื่อกดที่เต้านมแล้วผิวหนังบุ๋มลงไป
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ : ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม : ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีโอกาสสูง 3-4 เท่าที่จะเป็นอีกข้าง
- พันธุกรรม : โรคมะเร็งสามารถส่งต่อผ่านพันธุกรรมได้ หากคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้
- ยีน BRCA1 หรือ BRCA2 กลายพันธุ์ : ยีน BRCA1 และBRCA2 เป็นยีนที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ หากยีนเหล่านี้เกิดการผ่าเหล่าจะทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้
- ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง : ผู้ที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สูงมาก ๆ จะกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมได้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต : พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด และการรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย : ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 และประจำเดือนหมดช้า
การรักษา
การรักษามะเร็งเต้านมนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจจากแพทย์ที่วางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยประเมินจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน เช่น ระยะของโรค ขนาดของก้อนเนื้อ การแพร่กระจาย รวมทั้งอายุและสุขภาพของผู้ป่วย
-
การรักษาเฉพาะที่
การรักษาเฉพาะที่เป็นวิธีการรักษาเฉพาะจุดที่มีก้อนมะเร็ง ซึ่งมีทั้งการรักษาโดยการผ่าตัด และการรักษาโดยการฉายแสง
-
-
รักษาโดยการผ่าตัด
-
การผ่าตัดเป็นการรักษาโรคมะเร็งที่มักจะใช้ในระยะเริ่มต้น ที่ก้อนเนื้อยังอยู่ในจุดเดียวกัน ซึ่งการผ่าตัดมีด้วยกันหลายรูปแบบทั้งผ่าตัดเต้านมออก ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก
-
-
รักษาโดยการฉายแสง (รังสีรักษา)
-
การฉายแสงเป็นการรักษาแบบรังสีรักษา (Radiotherapy) ประเภทหนึ่ง ที่แพทย์จะทำการฉายรังสีไปบริเวณที่เซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยจะต้องทำอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดไว้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะรักษาร่วมกับการผ่าตัด
-
การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย
การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (Systemic Treatment) เป็นการรักษาที่หวังให้เกิดผลกับทุกระบบในร่างกาย ไม่ได้เลือกรักษาเฉพาะจุดที่มีก้อนมะเร็งเท่านั้น ซึ่งการรักษาแบบนี้มีทั้งแบบใช้ยาเคมีบำบัด และใช้ยาต้านฮอร์โมน
-
-
รักษาโดยยาเคมีบำบัด
-
การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด เป็นการให้ยาที่มีฤทธิ์ในการทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีทั้งแบบการรับประทานยา และแบบยาฉีด ที่จะฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เซลล์ปกติถูกทำลายไปด้วย จนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร เป็นต้น
-
-
รักษาโดยยาต้านฮอร์โมน
-
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเชื้อมะเร็งมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน จะสามารถรักษาด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมนชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเพศ โดยจะออกฤทธิ์ส่งผลให้เซลล์มะเร็งขาดฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง
2. มะเร็งปากมดลูก
สาเหตุมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus หรือเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งส่วนใหญ่มักติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ก็ยังสามารเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ และภูมิคุ้มกันไม่ดี เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อเอชพีวีจะทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเกิดความผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ ทั้งนี้ เชื้อเอชพีวีจะใช้เวลาประมาณ 5-20 ปีในการเปลี่ยนเนื้อเยื่อปกติให้กลายเป็นมะเร็ง
ระยะของมะเร็งปากมดลูก
ระยะของมะเร็งปากมดลูกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะใหญ่ คือระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม และระยะลุกลาม
-
ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม
ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลามเป็นช่วงต้น ๆ ที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุผิว ยังไม่แทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะนี้มักจะมีตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรืออาจยังไม่มีอาการผิดปกติเลยก็ได้
-
ระยะลุกลาม
การแบ่งระยะของมะเร็งปากมดลูกนั้นแบ่งตามขนาดของก้อนมะเร็ง และการแพร่กระจายของโรค โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่ที่ปากมดลูก
ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มลุกลามจากปากมดลูกไปยังส่วนข้าง ๆ
ระยะที่ 3 เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่อุ้งเชิงกราน
ระยะที่ 4 ถือเป็นระยะสุดท้าย ในระยะนี้เชื้อได้แพร่กระจายไปยังอวัยอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด เป็นต้น
อาการเบื้องต้น
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่มักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ในช่วงเริ่มแรก แต่เมื่อเชื้อได้ลุกลามและมีอาการหนักขึ้น ร่างกายจะเริ่มแสดงออกให้เห็นถึงอาการผิดปกติต่าง ๆ
- เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
- เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมามากขึ้น หรือมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนแล้ว
- มีตกขาวมากผิดปกติ และตกขาวมีสีหรือกลิ่นเหม็น บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย
- ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
- รู้สึกปวด หลังมีเพศสัมพันธ์
ปัจจัยเสี่ยง
โรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ ดังนี้
- ติดเชื้อเอชพีวี : ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ : มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ เช่น โรคหนองในแท้ โรคซิฟิลิส และโรคเอดส์
- บุหรี่ : การสูบบุหรี่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย
- ตั้งครรภ์และคลอดบุตรหลายคน : มีจำนวนครั้งในการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 2-3 เท่า
- ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ : ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ขาดสารอาหารบางชนิด : สำหรับผู้ที่ได้รับวิตามินเอ วิตามินซี และกรดโฟลิกต่ำ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไป แต่ถือว่ามีความเสี่ยงในอัตราที่ต่ำมาก
- พันธุกรรม : หากมีคนในครอบครัวเคยเป็น คุณก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องตรวจคัดกรองเป็นกระจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค
การรักษา
สามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ และฉีดวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โดยต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูก มีทางเลือกในการรักษาหลายด้วยกันหลายวิธี
-
การผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่พบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ๆ แพทย์มักจะรักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก
-
การใช้รังสีรักษา
หลังจากการผ่าตัดและพบว่ามีโอกาสที่เชื้อมะเร็งจะกลับมา แพทย์มักจะใช้การรักษาด้วยรังสีร่วมกับการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ (Locally Advanced Cervical Cancer) แพทย์จะใช้การรังสีรักษาร่วมกับการทำเคมีบำบัด ซึ่งการใช้รังสีรักษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy) และการฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy)
-
การใช้เคมีบำบัด
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักจะใช้เคมีบำบัดกับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายเป็นหลัก นอกจากนี้ การใช้เคมีบำบัดร่วมกับการใช้รังสีรักษายังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษาได้มากขึ้น และบางครั้งแพทย์มักเลือกการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy) ควบคู่ไปด้วยกัน
-
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการอาศัยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันกำจัดสิ่งแปลกปลอมอย่างเซลล์มะเร็งออกจากร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้มักใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ๆ
3. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) คือ โรคมะเร็งในระบบสืบพันธ์ของผู้หญิง ที่เกิดบริเวณต่อมเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งปกติแล้วเยื่อบุโพรงมดลูกมีไว้เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัว เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ หากมีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุที่ผิดปกติ ก็จะเกิดเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ที่สำคัญมะเร็งชนิดนี้เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสาม รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงวัย 40-70 ปี หรือพบในผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ปัจจุบันผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงขึ้น
ระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่ภายในมดลูกเท่านั้น
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังปากมดลูก
ระยะที่ 3 มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังผิวชั้นนอกมดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด แต่ยังลามไปไม่เกินกระดูกเชิงกราน
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้
อาการเบื้องต้น
ในระยะแรก ๆ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้ได้เห็น แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ก็จะแสดงออกมาให้เห็นผ่านความผิดปกติต่าง ๆ ทางร่างกาย เช่น การมีเลือด และของเหลวออกทางช่องคลอด นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะสุดท้าย มักมีอาการ ดังนี้
- มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณขา ท้องส่วนล่าง และสะโพกส่วนล่าง เนื่องจากเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาท
- ขาและเท้าปวดบวม
- โลหิตจาง
- น้ำหนักลด
- มีไข้ และตัวร้อน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีดังนี้
- อายุ : พบได้มากในผู้หญิงวัย 40-70 ปี และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง : เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จนไม่สมดุลกับฮอร์โมนเพศหญิงชนิดอื่น ๆ ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถหลุดลอกออกไปเป็นประจำเดือนได้ และมีการหนาตัวผิดปกติ จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน : ผู้ที่มีไขมันในร่างกายเกินเกณฑ์ จะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นจากเนื้อเยื่อไขมันบางส่วน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ยาบางชนิด : การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน ๆ อาจกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูก จนพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งได้
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS: Polycystic Ovary Syndrome) : เป็นภาวะที่ทำให้ขาดการมีประจำเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นจนเป็นมะเร็งได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่มีระดับน้ำตาลผิดปกติ : ผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าคนอื่น ๆ ถึง 2.8 เท่า
- ประจำเดือนมาผิดปกติ : สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ รวมทั้งประจำเดือนมาไม่ปกติ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าคนอื่นถึง 3 เท่า
- เป็นประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย : สำหรับผู้ที่เป็นประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 มีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากถึง 60%
- พันธุกรรม : มะเร็งเป็นโรคที่สามารถส่งต่อผ่านพันธุกรรมได้
การรักษา
การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจะประเมินจากชนิดของเนื้องอก ระยะมะเร็ง อายุ และสุขภาพโดยรวม เพื่อให้ได้การรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด
-
การผ่าตัด
การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่เชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ 2 ข้าง ร่วมกับต่อมน้ำเหลือง เพื่อนำเอาเซลล์มะเร็งในโพรงมดลูกออก นอกจากนี้การผ่าตัดยังใช้ประเมินระยะของโรค เพื่อวางแผนการรักษาเสริมอื่น ๆ หลังการผ่าตัดด้วย
-
การรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัด แพทย์จะทำการพิจารณาว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งการรักษาเสริมมีด้วยกันหลายแบบทั้งรังสีรักษา และการใช้ยาเคมีบำบัด โดยแพทย์จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติม เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งได้ต่ำ
- กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง ควรรักษาด้วยรังสีรักษาเพิ่มเติม
- กลุ่มความเสี่ยงสูง ต้องรักษาเพิ่มเติมด้วยรังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด
4. มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นมะเร็งระบบสืบพันธ์ุ ที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ หรือท่อนำไข่ ทำให้รังไข่มีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย รวมถึงแพร่ไปยังทางเดินน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่สามารถตรวจพบได้ในผู้ป่วยเพศหญิงตั้งแต่อายุ 20-80 ปี แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี
ระยะของมะเร็งรังไข่
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งรังไข่สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่เฉพาะที่รังไข่
ระยะที่ 2 เชื้อมะเร็งเริ่มลามไปที่อุ้งเชิงกราน และปีกมดลูก
ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายไปยังช่องท้อง ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และในต่อมน้ำเหลืองรอบเส้นเลือดใหญ่ในท้อง
ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ นอกช่องท้อง เช่น ปอด ช่องหัวใจ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ เนื้อตับ และสมอง
อาการเบื้องต้น
มะเร็งรังไข่ในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาหาร จะพบว่าเป็นมะเร็งก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว โดยอาการเบื้องต้นที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
- รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง ท้องอึด เสียดแน่นท้อง และอาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักขึ้นหรือลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
- เลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด
- ปวดท้องน้อย คลำเจอก้อนเนื้อในท้องน้อย
- เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะสุดท้ายท้องจะโต ผมแห้ง และน้ำหนักลด
ปัจจัยเสี่ยง
มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
- พันธุกรรม : เคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่
- อายุ : มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- เป็นประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย : มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- เป็นประจำเดือนนาน : ประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ไม่เคยตั้งครรภ์ : เป็นผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือไม่เคยมีลูก รวมทั้งผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก
- เคยเป็นมะเร็ง : มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้
- ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ : เคยใช้ยากระตุ้นการตกไข่เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกว่า 12 เดือน
- สภาพแวดล้อมโดยรวม : อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สารเคมี และการรับประทานอาหาร
การรักษา
เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำการประเมินระยะของโรค รวมทั้งสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อวางแผนในการรักษา
-
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาหลัก เพื่อนำก้อนมะเร็งออกจากผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งลักษณะการผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่แพร่กระจาย หากวินิจฉัยแล้วว่าเซลล์มะเร็งในรังไข่ยังไม่ลุกลามออกไป แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อเอาก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออก โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยมักได้รับการผ่าตัดเพื่อเอารังไข่ทั้งสองข้าง ท่อนำไข่ มดลูก รวมถึงต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้อง ออก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
-
การรักษาเสริมหลังการผ่าตัด
การรักษาเสริมหลังการผ่าตัด จะพิจารณาจากการผ่าตัดว่ามะเร็งนั้นอยู่ในระยะใด มีความจำเป็นต้องรักษาเสริมหรือไม่ สำหรับผู้ที่ต้องรักษาเสริมนั้นมีทั้งการใช้เคมีบำบัด รังสีรักษา การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted Therapy) และ การรักษาด้วยฮอร์โมน บางครั้งอาจมีการใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกัน
มะเร็งที่พบมากในผู้หญิงนั้นสามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ๆ จากการตรวจภายใน และการตรวจคัดกรองเป็นประจำ
ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ ยกเว้นมะเร็งเต้านม ที่ต้องอาศัยการสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดก็ตาม รวมถึง การมีพฤติกรรม หรืออยู่ในช่วงอายุที่มีความเสี่ยงจะเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ ควรตรวจภายในเพื่อความปลอดภัย และช่วยให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที