ภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome) หรือ ภาวะทำงานหนักจนตาย
เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม กระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแคททีโคลามีน (Catecholamine) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาในเลือด การที่ฮอร์โมนเหล่านี้มีระดับสูงในเลือดตลอดเวลา จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งหนาตัวและตีบตัน เกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง (overworked related cardiovascular and cerebrovascular disease) จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
พฤติกรรมและอาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะคาโรชิ
- ทำงานเกินเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มงานเร็ว กลับบ้านช้า
- เครียดจากการทำงาน คิดหมกมุ่นเรื่องงาน ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น
- ทำงานที่มีความกดดันสูง
- ไม่มีโอกาสลางานหรือไม่สามารถลางาน
- ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย
- ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก คิดเรื่องงานจนเก็บไปฝัน
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
การป้องกันภาวะคาโรชิ
- ไม่ทำงานหนักเกินพอดี ระหว่างทำงานควรพักสมองเป็นระยะ
- ไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้าน หากไม่จำเป็น
- แบ่งเวลาพักผ่อนทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้
- ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนไม่หลับควรปรึกษาแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
- หากมีความจำเป็น อาจพิจารณาเปลี่ยนไปทำงานที่เหมาะสมและไม่หนักเกินตัว