สิ่งที่ควรทำให้ได้ก่อนอายุ 30 เพื่อชีวิตที่ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง

10 ม.ค. 2568 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

สิ่งที่ควรทำให้ได้ก่อนอายุ 30 เพื่อชีวิตที่ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง

เมื่อรู้ตัวอีกทีก็ใช้ชีวิตก้าวเข้าสู่เลข 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วัย 30 เป็นวัยที่ต้องรับผิดชอบอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต เนื่องจากเริ่มมีความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเงิน หรือบางคนอาจมีโอกาสในการได้ขยับขยายฐานครอบครัว 

โดยอายุที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ยังรวมไปถึงภาวะความเครียด ความกดดันก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันกลับพักผ่อนน้อยลง จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้สุขภาพโดยรวมเริ่มเสื่อมถอย จากที่เคยแข็งแรงดีแต่พอมาวัยนี้โรคภัยต่าง ๆ กลับแสดงอาการออกมาโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวได้ วันนี้สินแพทย์​ กาญจนบุรี จะมาแนะนำการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง และปลอดภัยจากโรคความดันโลหิตสูง  เพื่อการก้าวเข้าสู่วัย 30+ อย่างมีคุณภาพ และมั่นคง

ทำไมต้องเริ่มดูแลตัวเองก่อนอายุ 30

ทำไมต้องเริ่มดูแลตัวเองก่อนอายุ 30 เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ทำให้บางครั้งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่หักโหม และมักละเลยในการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง ประกอบกับเมื่ออายุที่เพิ่มขึ้นสภาพร่างกายย่อมมีการเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ทำให้สุขภาพที่เคยแข็งแรง สามารถอดทนต่อความเหนื่อยล้าได้ดีกลับอ่อนแอ และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ง่ายมากขึ้น

ความดันโลหิตสูง

โรคใดบ้าง ที่จะเริ่มเข้ามาตอนอายุ 30+

โรคใดบ้าง ที่จะเริ่มเข้ามาตอนอายุ 30+ ดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อก้าวเข้าสู่วัยนี้ ร่างกายที่เคยแข็งแรง และสามารถอดทนต่อการใช้ชีวิตหักโหมได้ อาจอ่อนแอลงจนนำไปสู่การเกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา อาทิเช่น

เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

การเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นโรคที่เกิดจากการนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อการทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนที่ได้ เช่น การขับรถอย่างต่อเนื่อง การยกของหนัก รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนอนหลังการรับประทานอาหารในทันที การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลมมากจนเกินไป ตลอดจนภาวะความเครียดของร่างกาย และอาการผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคชนิดนี้ได้

โรคไมเกรน

โรคไมเกรน เกิดขึ้นจากความผิดปกติชั่วคราวของสารเคมีในสมอง รวมทั้งการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดสมอง อาจเกิดได้จากพันธุกรรม รวมทั้งปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้น ทำให้เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ เป็นระยะ บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และแพ้แสงจ้าร่วมด้วย

เสี่ยงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่สุด บางครั้งอาจมีเลือดปนได้เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้นอกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะ การดื่มน้ำน้อย ที่สามารถเพิ่มโอกาสกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อได้มากขึ้น

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบที่มักไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะอยู่ในภาวะขั้นรุนแรง และถึงแม้โรคนี้ในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการแต่สามารถส่งผลต่อระบบหลอดเลือด และหัวใจ ที่นำไปสู่ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ รวมทั้งโรคสมองเสื่อม เป็นต้น

ค่าความดันแบบไหนปกติ vs ผิดปกติ

ค่าความดันแบบไหนที่ปกติ และผิดปกติ สามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • ความดันโลหิตปกติ : ค่าความดันที่ต่ำกว่า 120/80 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตค่อนข้างสูง : เป็นระดับที่สูงเล็กน้อยแต่ยังอยู่เกณฑ์ปกติ มีค่าความดันระหว่าง 121-139/80-89 (mm/Hg) 
  • ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 : ค่าความดันระหว่าง 130-139/80-89 (mm/Hg) ควรเข้าพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 : มีค่าความดันเกินกว่า 140/90 (mm/Hg) ขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคความดันสูง

วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคความดันสูง ไม่ใช่เรื่องไกลตัวไม่ว่าจะเพศไหน อายุเท่าไร ก็ควรหมั่นใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคได้ โดยการป้องกันสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ลดเครื่องดื่มแอกอฮอล์ ให้มีความเหมาะสม
  • งดการสูบบุหรี่ที่อาจส่งผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ

สรุป

การดูแลตัวเองในวัย 30 เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคความดันโลหิตสูงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงสร้างความสมดุลในชีวิต ไม่หักโหมร่างกายมากจนเกินไป พร้อมทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่กับการออกกำลังกาย ตลอดจนการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี เพียงเท่านี้ทุกท่านก็สามารถก้าวเข้าสู่วัย 30+ ที่มีความสุขอย่างมีคุณภาพ และมั่นคงได้อย่างแน่นอน

SHARE