รู้จัก “ไซยาไนด์” สารเคมีอันตรายถึงชีวิต!

27 เม.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง สารนี้อยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว แก๊ส เช่น Hydrogen Cyanide, Potassium Cyanide, Sodium Cyanide โดยมีการนำไซยาไนด์มาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดแร่ ผลิตกระดาษ พลาสติก หนังเทียม นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังพบในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด และถั่วบางชนิด สารนี้หากมีการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

อาการของพิษจากไซยาไนด์เป็นอย่างไร ?

เมื่อไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย จะไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดภาวะขาดออกซิเจน ที่สำคัญคือเซลล์สมองจนไปถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการและความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับสาร อาการที่พบได้มีดังนี้

  • ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจลำบาก หายใจช้า
  • อ่อนแรง
  • หมดสติ ชัก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น  

 

พิษจากไซยาไนด์รักษาอย่างไร ?

  • รักษาประคับประคองตามอาการ โดยการดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยากระตุ้นความดันกรณีมีความดันโลหิตต่ำ รักษาภาวะเลือดเป็นกรด หรือให้ยากันชัก
  • รักษาแบบจำเพาะ กรณีทราบสาเหตุการสัมผัสสารพิษ โดยการให้ยาต้านพิษในกลุ่ม Sodium Nitrite และ Sodium Thiosulfate

 

ทำอย่างไรหากสัมผัสไซยาไนด์ ?

  • หากสัมผัสไซยาไนด์ทางผิวหนัง ให้รีบถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารออก แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ 
  • หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที
  • หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด 
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำ CPR แต่ “ห้ามใช้วิธีเป่าปาก” เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ
  • รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
SHARE