อาการปวดหัวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปวดกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ กล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ หลอดเลือดบริเวณรอบศีรษะ จนไปถึงโครงสร้างต่าง ๆ ที่สำคัญในสมอง ซึ่งคนจำนวนมากอาจมีประสบการณ์การการปวดหัวเรื้อรังจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป จนถึงมีอีกจำนวนหนึ่งที่หาสาเหตุไม่พบ ซึ่งอาการปวดหัวเรื้อรังย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายกายในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการงานรวมไปถึงสภาพจิตใจ และในบางโรคอาจมีอันตรายถึงชีวิต การสืบค้นหาสาเหตุและการวินิจฉัยที่ถูกต้องมีความจำเป็นสำหรับการรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังเหล่านี้ในระยะยาว
อาการปวดหัวเรื้อรัง (Chronic Headache) สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ กระบวนการในเบื้องต้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อสืบค้นโรคที่อันตรายก่อน เช่น เนื้องอกในสมอง ปวดหัวจากความดันโลหิตสูง ความดันของน้ำในโพรงสมองสูงหรือต่ำไป เยื่อหุ้มสมองหักเรื้อรัง หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน หลอดเลือดแดงในสมองโป่งพองเป็นกระเปาะ เป็นต้น ในกรณีที่สืบค้นแล้วไม่พบโรคร้ายดังที่ยกตัวอย่าง สาเหตุของอาการปวดหัวเรื้อรังที่พบบ่อยยังคงมีได้อีกหลากหลายสาเหตุและหลากหลายรูปแบบ ดังที่จะกล่าวในบทความนี้ต่อไป
ประเภทของการปวดหัวเรื้อรัง
อาการปวดหัวเรื้อรังนั้น แท้จริงสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายประเภทมากมาย แต่โรคปวดหัวเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากโรคคร้ายซ่อนอยู่ในสมองที่พบได้บ่อยมี 6 โรค ที่จะอธิบายถึงในบทความนี้
ปวดหัวไมเกรนเรื้อรัง (Chronic migraine)
ไมเกรนเป็นหนึ่งในโรคปวดหัวที่สามารถเป็นเรื้อรังได้ พบบ่อยมากในเฉพาะคนที่เป็นไมเกรนมาก่อน โดยไมเกรนจะเป็นถี่ขึ้นเกิน 15 วันต่อเดือน และต่อเนื่องกันเกิน 3 เดือน อาการปวดหัวที่เด่นของไมเกรนเรื้อรัง จะเป็นการปวดหัวที่มีลักษณะเป็นซีกซ้ายหรือขวา มักจะเด่นข้างใดข้างหนึ่งและสามารถสลับข้างได้ อาการปวดมีลักษณะเต้นตุบ เป็นจังหวะคล้ายชีพจร และอาการปวดนั้นจะค่อนข้างรุนแรง มีคลื่นไส้อาเจียนได้บ่อยรวมถึงตาสู้แสงไม่ได้ เห็นแสงแล้วจะมีอาการปวดมาก ส่งผลให้คนที่เป็นไมเกรนชอบอยู่ในที่มืด บางคนมีการรับรู้ที่ผิดปกติไป ในช่วงก่อนหรือระหว่างการปวดหัว เช่น อาจเห็นภาพซิกแซก แสงวูบวาบ บางรายอาจมีความรู้สึกชาตามร่างกาย หรือเวียนหัวบ้านหมุนก็เป็นไปได้
ในปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนเกิดจากการที่มีหลอดเลือดบริเวณศีรษะขยายตัวผิดปกติ โดยมักกระตุ้นได้จากความเครียด การนอนไม่พอ รวมไปถึงความร้อน แสง สี เสียง กลิ่นรบกวนบางอย่าง และมีปัจจัยด้านพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน ซึ่งในโรคไมเกรนเรื้อรังเองอาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลง จนมีปัญหาด้านการงานและจิตใจตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษา
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ (Chronic tension-type headache)
เป็นอีกหนึ่งโรคเกี่ยวกับปวดหัวเรื้อรังที่พบได้บ่อยใกล้เคียงกับไมเกรนเรื้องรัง ลักษณะของอาการปวดแบบ tension-type จะมีลักษณะอาการปวดแบบตื้อและรัดบริเวณรอบศีรษะทั้งสองข้าง ขมับ และอาจรวมไปถึงปวดบริเวณต้นคอ และท้ายทอย อาการปวดมักไม่รุนแรงมาก แต่มักจะปวดได้ยาวนานรวมกันเกิน 15 วันต่อเดือน อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจมีได้แต่พบน้อยกว่า
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่าอาจเกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่สร้างสารรับความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าปกติ อาการปวดหัวประเภทนี้มักสัมพันธ์กับความเครียด รวมไปถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมไปถึงการทำงานหนักก็สามารถกระตุ้นให้มีอาการปวดประเภทนี้ได้เช่นกัน
ปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (Medication overuse headache)
การปวดหัวประเภทนี้ ผู้ป่วยมักมีโรคปวดหัวอย่างอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น ไมเกรน และจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดปริมาณมาก มากกว่า 10-15 เม็ดต่อเดือน และยังคงมีอาการปวดหัวทุกวันโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถลดยาแก้ปวดลงได้ หากลดยาแก้ปวดลงจะกำเริบทันที ลักษณะอาการปวดจะคล้ายกับโรคที่เป็นอยู่เดิม เช่น ถ้าเคยปวดแบบไมเกรน อาการปวดก็จะเป็นลักษณะคล้ายไมเกรน
อาการปวดหัวประเภทนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะคือ การเลิกยาแก้ปวดที่ใช้อยู่ ไม่เช่นนั้นอาการปวดจะไม่ดีขึ้น หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ใช้มากเกิน รวมไปถึงผลกระทบด้านจิตใจละคุณภาพชีวิต
ปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง (Hemicrania continua)
เป็นโรคเกี่ยวกับการปวดหัวเรื้อรังที่พบได้น้อยกว่า 3 โรคแรกที่กล่าวถึงไปอย่างมาก ลักษณะของโรคปวดหัวข้างเดียวเรื้อรังนี้มักมีลักษณะจำเพาะอย่างมาก คือ ปวดบริเวณรอบกระบอกตา รวมไปถึงบริเวณขมับข้างเดียวโดยไม่เคยย้ายข้าง เป็นเรื้อรังมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ความรุนแรงของอาการปวดอาจมีตั้งแต่ปวดเล็กน้อยจนถึงปวดรุนแรงมาก และมักจะมีลักษณะอื่นร่วมด้วยเวลามีอาการปวด เช่น น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม น้ำมูกไหล ปากบวมในข้างที่ปวด และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยจะกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้เมื่อมีอาการปวด ตรงข้ามกับไมเกรนที่เวลาปวดมักจะอยู่นิ่ง ๆ ในที่มืดเพื่อทำให้อาการปวดลดลง
โรคปวดหัวชนิดนี้เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทคู่ที่ 5 ของสมอง หรือ เส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal) รับความรู้สึกและส่งสัญญาณผิดปกติ และตอบสนองดีมากต่อยาแก้ปวดตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Indomethacin ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะมากของโรคปวดหัวนี้
ปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (New daily persistent headache)
เป็นโรคที่พบได้น้อย ลักษณะอาการปวดหัวเรื้อรังของโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในคนที่ไม่เคยมีโรคปวดหัวใดมาก่อน ลักษณะปวดเป็นทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้ พบอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือตาสู้แสงไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะของไมเกรนที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยมักจจะจำวันแรกที่เริ่มปวดได้แม่นยำ และอาการปวดยาวนานมามากกว่า 3 เดือน โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และควรจะต้องได้รับการสืบค้นเพิ่มเติมโดยแพทย์ก่อนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยประมาณ 70% สามารถหายจากโรคนี้ได้เองเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี และอีกส่วนยังคงมีอาการปวดหัวต่อเนื่องที่ต้องการยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการ
ปวดหัวแบบคลัสเตอร์เรื้อรัง (Chronic cluster headache)
เป็นโรคปวดหัวที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับการทำงานของต่อมใต้สมองและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทำงานผิดปกติ ลักษณะอาการปวดอาจคล้ายกับโรคปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง แต่จะมีอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรงมากเหมือนโดนของแหลมทิ่มแทง สะดุ้งตื่นได้จากอาการปวด ร่วมกับมีอาการตาแดงน้ำตาไหล ตาบวมปากบวม หรือหนังตาตกในข้างที่ปวด อาการปวดมักจะอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ในกรณีที่เป็นบ่อยโดยไม่มีช่วงหายยาวนานกว่า 3 เดือน จะเข้าข่ายอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์เรื้อรัง
โรคนี้ตอบสนองดีต่อการได้รับออกซิเจนเสริม และยาแก้ปวดจำเพาะบางตัว อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงเฉียบพลันของโรคนี้มักจะพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อสืบค้นเพิ่มเติม
อาการปวดหัวเรื้อรังเกิดจากอะไรได้บ้าง
จากโรคเกี่ยวกับปวดหัวเรื้อรังที่กล่าวถึงในเบื้องต้น โรคจำนวนมากอาจยังไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจัยที่พบบ่อยที่เกี่ยวข้องกับโรคปวดหัวหลายโรคได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ อีกทั้งความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และรวมไปถึงพันธุกรรม แม้ว่าโรคปวดหัวเรื้อรังจำนวนมากไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการที่เกิดขึ้นอาจสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และต้องได้รับการรักษา
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยกับคนที่มีอาการปวดหัวเรื้อรัง มักพบร่วมกับโรคปวดหัวเรื้อรังทุกประเภทและเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดแบบ Tension-type สาเหตุมักเกิดจากความเครียด หรือพฤติกรรมการทำงานที่มีการใช้สายตาหรือเกร็งต้นคออยู่ตลอดเวลา เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการตึงตัวจะมีสารที่สร้างความเจ็บปวดสะสมในกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหัวหรือต้นคอ อาการปวดมักจะเป็นลักษณะ ตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือ ลักษณะเหมือนถูกรัด อาการปวดจะไม่รุนแรงมากแต่ปวดตลอดเวลาและอาจจะรบกวนชีวิตประจำวันได้
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมีส่วนทำให้ปวดหัวเรื้อรังได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาการปวดหัวแบบไมเกรน ผู้ป่วยจำนวนมากพบว่าอาการปวดหัวจะกำเริบในช่วงระยะเวลาที่มีประจำเดือน ทั้งนี้เพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว ซึ่งในผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่นั้นอาการปวดหัวจะลดลงจนหายไปได้เองในช่วงที่หมดประจำเดือน แต่นั่นยังอาจจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน การรักษาเพื่อบรรเทาอาการจึงจำเป็นในผู้ป่วยจำนวนมาก
พันธุกรรม
ใครที่มีบุคคลในครอบครัวมีอาการปวดหัวเรื้อรังจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคไมเกรน นั้น อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เรามีโรคเช่นเดียวกันได้ เพราะพันธุกรรมคืออีกหนึ่งปัจจัย ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับการปวดหัวเรื้อรังบางโรคมีความเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่สาเหตุจากพันธุกรรมโดยตรง
เส้นประสาทใบหน้าทำงานผิดปกติ
เส้นประสาทคู่ที่ 5 ของสมอง หรือเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal) เป็นเส้นประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อและรับความรู้สึกต่าง ๆ บนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส หรือการรับรู้อุณหภูมิต่าง ๆ ซึ่งหากว่าเส้นประสาทในส่วนนี้เกิดการทำงานผิดปกติจะส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรังในส่วนของใบหน้า ฟัน เหงือก หรือกรามได้ และอาจมีน้ำตาไหล ตาแดง ตาบวมปากบวมในใบหน้าซีกนั้นได้ ซึ่งเส้นประสาทใบหน้าทำงานผิดปกตินี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัว และในบางครั้งอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคงูสวัด ไม่ว่าจะมีอาการก่อนหรือหลังผื่นปรากฎในกรณีนี้ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการรักษา
แนวทางในการรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังเบื้องต้น
สำหรับวิธีแก้อาการปวดหัวเรื้อรังนั้น ถ้าอาการปวดเป็นเรื้อรังและรบกวนชีวิตประจำวัน หรือรู้สึกถึงความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาการชา อ่อนแรง พูดไม่ชัด เดินเซ หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อสืบค้นสาเหตุที่อาจเกิดจากโรคที่อันตราย แต่หากอาการปวดหัวเป็นมาอย่างยาวนานหลายปี สัมพันธ์กับความเครียดหรือการพักผ่อนน้อยค่อนข้างชัดเจน สิ่งที่พอจะปฏิบัติเพื่อลดการกำเริบของโรคปวดหัวได้นั้น มีดังนี้
การบริหารจัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
เนื่องจากอาการปวดหัวที่เป็นเรื้อรังหลายครั้งที่เกิดจากความเครียด และการทำงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่เป็นตัวกระตุ้นการปวดหัวทั้งแบบ Tension-type และ แบบไมเกรน
สิ่งที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ในเบื้องต้นคือการหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และบริหารจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่เพลิดเพลินต่าง ๆ และสังเกตว่าอาการปวดหัวลดลงหรือไม่ ถ้าอาการปวดหัวลดลงเป็นการยืนยันโดยทางอ้อมว่าโรคปวดหัวที่เป็นอาจเกิดจากสาเหตุนี้
แต่ผู้ป่วยจำนวนมากมักมีความเครียดที่ค่อนข้างหนักในชีวิตประจำวันและจัดการความเครียดด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าเป็นในกรณีนี้แนะนำให้พบแพทย์เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาให้ยาและสืบหาว่ามีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่รักษาที่สาเหตุแล้วอาการปวดหัวนี้จะไม่หาย และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือเป็นโรคปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาดขึ้นมาซ้ำเติม
การนวดแผนไทย การฝังเข็ม และการกายภาพบำบัด
การรักษานี้จะใช้ได้ผลกับโรคปวดหัวชนิด tension-type ที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอ การนวด ฝังเข็ม กายภาพบำบัด หรือแม้แต่ประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และทำให้อาการปวดหัว ปวดต้นคอลดลงได้ แต่การบรรเทาอาการปวดนี้ใช้ได้ชั่วคราว หากสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะกลับมาปวดอีกได้
การออกกำลังกายการออกกำลังกายสามารถช่วยลดการกำเริบของโรคปวดหัวได้หลายโรค นอกจากช่วยยืดลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยตรงแล้ว ยังส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้อาการปวดลดลงด้วย รวมไปถึงการผ่อนคลายทางด้านจิตใจ และลดความเครียดลงในทางอ้อม ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวเรื้อรังควรหาเวลาออกกำลังกายวันละ 20-30 นาที อาจจะด้วยการวิ่ง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายอื่นที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายในลักษณะ aerobic จะช่วยลดการกำเริบของโรคปวดหัวเรื้อรังได้
การซื้อยากินเองนั้น ในเบื้องต้นยาที่ผู้ป่วยอาจจะลองซื้อกินเองได้ คือ ยา paracetamol ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ค่อนข้างปลอดภัยหากไม่ได้กินเกินขนาดในต่อวัน หากช่วยบรรเทาอาการปวดได้ผู้ป่วยสามารถกินยานี้เป็นครั้งคราวเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ แต่ยาในกลุ่มอื่น ๆ ที่ออกฤทธิ์แก้ปวดแรงกว่า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการใช้ยากลุ่มอื่นอาจตามมาด้วยผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น โรคกระเพาะ โรคหัวใจ เส้นเลือดตีบปลายมือปลายเท้าขาดเลือด หรือแม้แต่การติดยา
นอกจากนี้การใช้ยาเหล่านี้บ่อยครั้ง (มากกว่า 10-15 เม็ด ต่อเดือน) อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นโรคปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดตามมาได้ ซึ่งถ้าเกิดโรคนี้แล้วจำเป็นที่ต้องกินยาแก้ปวดตลอด หากหยุดเมื่อไหร่อาการปวดหัวจะกำเริบซึ่งจะยากต่อการรักษาในอนาคต
ไลฟ์สไตล์เจ้าปัญหาที่ต้องรู้และควรแก้ไข เพื่อไม่ให้อาการปวดหัวเรื้อรังมาถึงตัว
นอกจากสาเหตุการเกิดอาการปวดหัวเรื้อรังจะเกิดจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฮอร์โมน หรือระบบประสาทที่ถูกกระตุ้นแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรังได้ ซึ่งไลฟ์สไตล์เหล่านั้น ได้แก่
- การใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่อาจทำงานหักโหม มีเวลาพักผ่อนน้อย เกิดความเครียดได้ง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้รู้สึกปวดหัวอยู่ตลอดเวลา และเสี่ยงที่จะมีอาการปวดหัวเรื้อรังได้
- เพ่งจอโทรศัพท์หรือแสงสีฟ้าตลอดเวลา สำหรับผู้ที่ชอบดูโทรทัศน์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน ๆ ซึ่งพฤติกรรมนี้จะทำให้กล้ามเนื้อและดวงตาทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดโดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อตาได้
- มักมีพฤติกรรมมีเรื่องให้ขบคิดหรือกังวลใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยภายนอก เรื่องราวรอบตัว หรือมาจากความกังวลภายในจิตใจตนเอง เช่น งานจากสถานศึกษาหรือที่ทำงาน การกดดันตัวเอง หรือมองโลกในแง่ลบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดสะสม และเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้
อาการปวดหัวเรื้อรังเป็นอาการปวดหัวติดต่อกันหลายวัน ซึ่งจะปวดหัวตลอดเวลา ไม่มีไข้
โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน และมีอาการปวดติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งภาวะปวดหัวเรื้อรังสามารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเกิดจากความเครียด กล้ามเนื้อตึงตัว หรือฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับแนวทางวิธีแก้อาการปวดหัวเรื้อรังนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งแนวทางในการรักษามีตั้งแต่การกินยาบรรเทาอาการ การนวด การฝังเข็ม และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เพื่อลดอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง