กรวยไตอักเสบ อันตรายร้าย ที่คุณต้องรู้!

20 ก.พ. 2568 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

กรวยไตอักเสบ อันตรายร้าย ที่คุณต้องรู้!

กรวยไตอักเสบ เป็นภาวะอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม โดยโรคนี้เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อที่บริเวณไตข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองข้าง ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อโรคจะมาจากการติดเชื้อที่บริเวณกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจะลุกลามเข้าสู่บริเวณไต หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การเกิดภาวะร้ายแรง เช่น ภาวะไตวาย ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต และสุขภาพโดยรวมได้ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจถึงโรคนี้มายิ่งขึ้น โรงพยาบาลสินแพทย์ จะพาทุกคนไปรู้จักสาเหตุ และแนะนำแนวทางในการรักษาที่เหมาะสม พร้อมแชร์วิธีป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคกรวยไตอักเสบ ให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว

 

กรวยไตติดเชื้อ

 

กรวยไตอักเสบ คืออะไร?

กรวยไตอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่อไตหรือกรวยไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญภายในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำหน้าที่ในการกรองและขับของเสียออกจากร่างกาย การติดเชื้อในกรวยไต มักเริ่มจากการที่แบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีเลือดปน มีไข้ ร่วมกับปวดหลัง จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปสู่บริเวณไต จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะไตวาย เป็นต้น

 

สาเหตุหลักของกรวยไตอักเสบ

สาเหตุหลักของการเกิดโรคกรวยไตอักเสบ มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญดังนี้

 

การติดเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบ โดยเฉพาะเชื้ออีโคไล Escherichia coli (E. coli) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ แบคทีเรียชนิดนี้มักมาจากลำไส้ใหญ่ และเข้าสู่ท่อปัสสาวะ จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปที่กระเพาะปัสสาวะ และกรวยไต ส่งผลทำให้อวัยวะดังกล่าวเกิดการติดเชื้อในที่สุด

 

การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ

การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการเกิดโรคกรวยไตอักเสบได้ เนื่องจากการอุดกั้นทำให้ปัสสาวะไม่สามารถขับออกได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดการค้างสะสมในกระเพาะปัสสาวะ และไต ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่การอักเสบที่กรวยไตในที่สุด

โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ สามารถมาได้จากหลายปัจจัย เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ภาวะท่อปัสสาวะตีบ รวมถึงภาวะต่อมลูกหมากโตในเพศชาย เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้กรวยไตอักเสบ มีดังนี้

 

เพศหญิง

เพศหญิง มักมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าเพศชาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และกรวยไตได้ง่าย อีกทั้งท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และทวาร มีระยะห่างที่ใกล้กัน จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อที่บริเวณทางเดินปัสสาวะ และลุกลามเข้าสู่ไตได้โดยง่าย

 

ระบบภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการต่อต้าน และทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการติดเชื้อได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป

 

โรคประจำตัว

โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ และเกิดกรวยไตอักเสบได้มากขึ้น

 

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และการเพิ่มขนาดของมดลูกที่มีการกดทำทางเดินปัสสาวะให้แคบลง ซึ่งส่งผลทำให้การขับถ่ายของปัสสาวะถูกขัดขวางที่นำไปสู่โอกาสในการติดเชื้อบริเวณกรวยไตได้

 

อาการกรวยไตอักเสบ 

อาการของโรคกรวยไตอักเสบ สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง และหนาวสั่น : หนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้การติดเชื้อบริเวณกรวยไต โดยผู้ป่วยจะรู้สึกได้ถึงอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น โดยอาการเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายพยายามต่อต้านการติดเชื้อ รวมถึงการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย
  • ปัสสาวะผิดปกติ : เช่น ปัสสาวะบ่อย มีเลือดปน มีอาการปวดหรือแสบขัด ซึ่งเกิดจากการที่บริเวณกรวยไตมีการการอักเสบ และติดเชื้อแบคทีเรียในระบบททางเดินปัสสาวะ
  • อาการปวดบริเวณหลัง : โดยเฉพาะบริเวณเอวหรือตำแหน่งด้านข้างของร่างกาย ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดอย่างต่อเนื่องหรือปวดเป็นระยะตลอดทั้งวัน และบางครั้งอาจรุนแรงขึ้นเมื่อกดลงบริเวณที่มีอาการ ตลอดจนการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย 
  • อาการอ่อนเพลีย : เกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสู้กับเชื้อโรค และการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ในระยะเวลาอันสั้น
  • คลื่นไส้ และอาเจียน : เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อที่บริเวณไต ทำให้บริเวณระบบทางเดินอาหารมีการทำงานที่ผิดปกติ ร่างกายจึงมีการตอบสนองด้วยการขับของเสีย และสารพิษออกผ่านการอาเจียนทดแทนการขับปัสสาวะ

 

อาการกรวยไตอักเสบ

 

การรักษากรวยไตอักเสบ

การรักษากรวยไตอักเสบ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ เนื่องจากการติดเชื้อในไตมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้ โดยแนวทางในการรักษาของแพทย์ สามารถแบ่งได้ตามลักษณะดังนี้

 

การใช้ยาปฏิชีวนะ

การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นวิธีรักษาหลัก โดยมีจุดประสงค์ คือ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อ หรืออักเสบบริเวณกรวยไต โดยประเภทของยาที่ใช้ มีดังนี้

  • ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) : มักใช้สำหรับการรักษาที่มีระดับของโรคที่รุนแรง ซึ่งยากลุ่มนี้สามารถทำการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถใช้ได้ทั้งแบบรับประทาน และการให้ยาทางหลอดเลือด
  • ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) : เป็นยาปฏิชีวนะอีกหนึ่งชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และข้อจำกัดที่ต้องได้รับยาผ่านการฉีด
  • ยากลุ่มเพนิซิลิน (Penicillins) : มักใช้เพื่อการรักษาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยสามารถให้ยาผ่านการรับประทาน และผ่านทางหลอดเลือด โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
  • ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) : เป็นยาปฏิชีวนะ ที่มักใช้สำหรับการรักษากรวยไตอักเสบที่มีความรุนแรง รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อยารักษาชนิดอื่น ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วยากลุ่มนี้จะถูกให้ผ่านรูปแบบการฉีด

 

การรักษาตามอาการ

การรักษาตามอาการ เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นการประคับประคอง บรรเทา และควบคุมอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ และการอักเสบ โดยแพทย์จะดำเนินการสั่งยา เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดให้ลดน้อยลง 

ในบางครั้งผู้ป่วยสามารถทำการประคบอุ่น เพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากกรวยไตอักเสบ โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่างอีกทั้งการประคบอุ่นอาจช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และรู้สึกสบายตัวมากยิ่งขึ้น

 

การผ่าตัด (ในบางกรณี)

การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกรวยไตอักเสบ มักเป็นวิธีที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ผล และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงจนไม่สามารถใช้ยารักษาได้ เช่น

  • การติดเชื้อที่รุนแรง และมีภาวะดื้อยา
  • การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะการอุดกั้นบริเวณทางเดินปัสสาวะ
  • การผ่าตัดฝี และระบายหนองที่สะสมภายในไต
  • การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติทางภายวิภาคของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

รักษากรวยไตอักเสบ

 

ภาวะแทรกซ้อนของกรวยไตอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนหลัก ๆ ของกรวยไตอักเสบที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • การติดเชื้อในกระแสเลือด  : เกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียมีการแพร่กระจายเข้าสู่เส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย และนำไปสู่การเสียชีวิตลงในที่สุด
  • ภาวะไตวาย : เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งการติดเชื้อในกระเลือด ส่งผลให้ไตไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของสารพิษอยู่ภาพในร่างกาย
  • ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ : หากผู้ป่วยเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างการติดเชื้อ อาจพบความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้

 

การป้องกันกรวยไตอักเสบ ดูแลตัวเองให้ดี

การป้องกันกรวยไตอักเสบ สามารถทำตามได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การพักผ่อนให้เพียงพอ : จะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต้านทานเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย และสามารถฟื้นฟูจากการอักเสบได้ดียิ่งขึ้น
  • การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม : ประมาณ 7-8 แก้วต่อวัน จะช่วยทำให้ร่างกายสามารถขับของเสีย และสารพิษออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • อย่ากลั้นปัสสาวะ : เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค ที่สามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่บริเวณกรวยไตได้
  • ดูแลรักษาความสะอาด : เพื่อลดโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียบริเวณทวารเข้าสู่ท่อปัสสาวะ อันเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ และการอักเสบ
  • ปรึกษาแพทย์ : เมื่อเกิดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขัด ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และดำเนินการรักษาที่เหมาะสม

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกรวยไตอักเสบ (FAQ)

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกรวยไตอักเสบ มีดังนี้

 

กรวยไตอักเสบติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

กรวยไตอักเสบไม่สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยตรง แต่สามารถได้รับเชื้อโรคระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ท่อปัสสาวะ และลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือกรวยไตได้ในที่สุด

 

กรวยไตอักเสบกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบต่างกันอย่างไร?

กรวยไตอักเสบกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่มีความแตกต่างกันดังนี้

  • กรวยไตอักเสบ : เกิดการติดเชื้อที่บริเวณไต โดยเชื้อจะลุกลามมาจากกระเพาะปัสสาวะ และเข้าสู่ไต ซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อสุขภาพได้ เช่น ภาวะไตวาย การติดเชื้อในกระแสเลือด ที่นำไปสู่การเสียชีวิตลงได้
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ : เป็นการติดเชื้อที่บริเวณ กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการของโรคจะไม่มีความรุนแรงมากนัก หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

กรวยไตอักเสบส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่?

กรวยไตอักเสบสามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยอาจทำให้เกิดอันตราย เช่น การคลอดการกำหนด ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเจริญเติบโตได้ช้า ทำให้มีน้ำหนักตัวแรกคลอดที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

SHARE