ไข้สูง ปวดศีรษะ สัญญาณอันตราย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ!

6 ก.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เวลาเรามีอาการไข้ ปวดศีรษะ อย่าคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาเสมอไป บางครั้งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรค "เยื่อหุ้มสมองอักเสบ" ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย โรคนี้มีความรุนแรง และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม



โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากอะไร ?

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลัง เชื้อที่เป็นสาเหตุอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสงูสวัด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อมินนิงโกคอคคัส เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนซาบี เชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา การติดเชื้อเหล่านี้ที่เยื่อหุ้มสมองทำให้เกิดอาการต่าง ๆ โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ภาวะสุขภาพ และภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

 

อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นอย่างไร ?

  • ไข้สูง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ปวดต้นคอ คอแข็ง ก้มคอลำบาก
  • ซึม สับสน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ชัก
  • แพ้แสง ไวต่อแสง
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบวินิจฉัยอย่างไร ?

นอกจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์ในน้ำไขสันหลัง และส่งตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจภาพถ่ายรังสี CT Scan หรือ MRI สมอง เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่น และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

  • การรักษาประคับประคอง โดยการให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้แก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยากันชักในผู้ป่วยที่มีอาการชัก การให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำขาดเกลือแร่ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ และรักษาโรคอื่นที่เกิดร่วม
  • การรักษาเฉพาะ โดยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำที่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ การให้ยาต้านไวรัส การให้ยาต้านเชื้อรา หรือการให้ยารักษาวัณโรค

 

การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทำอย่างไร ?

  • รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกับผู้อื่น
  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อบางชนิด เช่น วัคซีนฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนซาบี วัคซีนนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
SHARE